Skip to content

ยาสเตียรอยด์ มีประโยชน์หรือโทษกันแน่?

พอพูดถึงยาสเตียรอยด์หลายๆคนอาจจะกลัว เพราะได้ยินคำเล่าลือกันมาว่าอันตราย โดยเฉพาะครีมต่างๆที่ผสมสเตียรอยด์ ทำให้เกิดสิวสเตียรอยด์บ้าง เกิดการติดเชื้อบ้าง ทำให้คนไข้หลายๆคนกลัวการใช้ยาสเตียรอยด์

เป็นเรื่องจริง…ที่การใช้สเตียรอยด์สามารถทำให้เกิดอันตรายได้ เนื่องจากหากใช้เป็นระยะเวลานานๆจะทำให้ยากดการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย มีการรบกวนสมดุลการสร้างกระดูก ลดการขับน้ำในร่างกาย ทำให้ตัวบวมและความดันสูง แต่ทั้งหมดนี้เกิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานานอย่างไม่ถูกวิธีที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร เช่น การปนปลอมของยาสเตียรอยด์ในยาชุด ยาแผนโบราณที่ไม่มีเลขทะเบียนซึ่งพบได้ในรูปแบบยาลูกกลอน ยาผง ยาน้ำ ยาเม็ด และครีมต่างๆที่ไม่ผ่านการรับรองจากอย. โดยมักเป็นยาที่อ้างสรรพคุณว่ารักษาแบบครอบจักรวาลหรือรักษาได้สารพัดโรค ดังนั้นจึงควรซื้อยาจากสถานที่ที่เชื่อถือได้ คือสถานพยาบาลหรือร้านยาที่ผ่านการรับรองแล้ว

โดยบทความนี้เราจะมาให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับยาสเตียรอยด์กัน

ยาสเตียรอยด์ เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ ได้แก่ อาการปวด บวม แดง ร้อน ของเนื้อเยื้อภายในร่างกาย รวมถึงมีฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกันและลดไข้ ยาสเตียรอยด์ที่ใช้รักษาโรคเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนสเตียรอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้น โดยมีหลายชนิดและหลายรูปแบบทั้งยาฉีด ยาเม็ด และยาทา มีสรรพคุณรักษาโรคได้หลากหลาย เพราะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็วจึงทำให้เห็นผลการรักษาเร็ว มักถูกใช้รักษาอาการโรคต่างๆ ดังนี้

1. ทดแทนการขาดฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต
2. โรคที่มีอาการอักเสบและปวดของกล้ามเนื้อ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้ออักเสบจากโรคเกาต์
3. โรคระบบทางเดินหายใจที่มีการอักเสบ เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
4. โรคผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ เช่น โรคผิวหนังสะเก็ดเงิน โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ตัวอย่างยาสเตียรอยด์ในรูปแบบต่างๆ

 1. รูปแบบยาเม็ดและยาฉีด
  • เพร็ดนิโซโลน (Prednisolone)
  • เด็กซาเมทาโซน (Dexamethasone)

ปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแพทย์และขึ้นอยู่กับว่าใช้รักษาโรคอะไร ซึ่งแพทย์อาจมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการให้ยาเพื่อให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด ไม่ควรเพิ่มหรือลดปริมาณการใช้ยาและหยุดใช้ยาด้วยตัวเองโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่ง เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากการลดยาได้ และหากกำลังใช้ยาชนิดใดอยู่ ควรแจ้งแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยาจนเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้

2. รูปแบบยาพ่นและยาฉีดจมูก
  • Beclomethasone dipropionate
  • Budesonide
  • Fluticasone propionate
  • Triamcinolone acetonide
  • Mometasone furoate
  • Ciclesonide
  • Fluticasone furoate

ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ที่เยื่อบุจมูกได้ดี และมีผลต่อทั่วร่างกาย เป็นยาที่ประสิทธิภาพมากที่สุดในการบรรเทาอาการต่างๆของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เนื่องจากยาสเตียรอยด์พ่นจมูกสามารถลดอาการคัดจมูก, น้ำมูกไหล, คัน และจามได้ดี ซึ่งในแนวทางการพัฒนาการตรวจรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในคนไทย แนะนำให้ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่มีอาการคงที่ หรือมีความรุนแรงปานกลางถึงมาก เนื่องจากผู้ป่วย มีโอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ (เช่น ไซนัสอักเสบ, ผนังคออักเสบ หรือเจ็บคอเรื้อรัง, หลอดลมอักเสบ หรือไอเรื้อรัง หรือโรคหอบหืด, ริดสีดวงจมูก, หูชั้นกลางอักเสบโดยเฉพาะในเด็ก, ภาวะมีน้ำขังในหูชั้นกลาง, จมูกไม่ได้กลิ่น, นอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ) มากกว่าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่มีอาการเป็นช่วงๆ หรือมีความรุนแรงน้อย

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ สามารถพบมากได้ในเด็ก จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องใช้ยาให้ถูกต้องตามอายุของผู้ป่วย โดยยาสเตียรอยด์พ่นจมูกได้รับการรับรองให้ใช้ได้ มีดังนี้

  • Fluticasone furoate, Triamcinolone acetonide และ Mometasone furoate สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 2 ปี
  • Fluticasone propionate สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 4 ปี
  • Budesonide, Beclomethasone dipropionate สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 6 ปี
  • Ciclesonide สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 12 ปี
โดยสรุปผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ควรใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกก็ต่อเมื่อ ประโยชน์จากการใช้ยาดังกล่าว มากกว่าอัตราเสี่ยงหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์พ่นจมูกนั้นน้อยมาก และการใช้ยาดังกล่าวในระยะยาว ค่อนข้างปลอดภัยถ้าใช้อย่างเหมาะสม
3. รูปแบบยาทา เช่น ครีม ขี้ผึ้ง โลชั่น

ยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ โรคผิวหนังที่มีอาการคันร่วมด้วย การแบ่งตัวของเซลล์ที่มากเกินไป และโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การเลือกใช้ยาทาสเตียรอยด์จะขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรคเป็นหลัก ยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอก ที่อยู่ในกลุ่มที่มีความแรงสูง (potent) ถึงกลุ่มที่มีความแรงสูงมาก (very potent) เป็นกลุ่มยาหลักในการรักษาโรคผิวหนังหลายชนิด ได้แก่ โรคสะเก็ดเงิน โรคด่างขาว โรคผิวหนังอักเสบชนิดแห้งฝ่อ โรคตุ่มน้ำพองจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่วนยาที่อยู่ในกลุ่มความแรงปานกลาง (moderate) ถึงกลุ่มที่มีความแรงสูง (potency) เป็นกลุ่มยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ โดยใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

จำนวนครั้งที่แนะนำให้ใช้ยา คือ ทาวันละครั้ง หรือ ทาวันละสองครั้ง เช้า-เย็น การทายาด้วยจำนวนครั้งต่อวันที่มากกว่านี้ ไม่ได้ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น การใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดการชินต่อยาและโรคกลับไม่สนองตอบต่อการรักษา ในกรณีที่เป็นโรคชนิดเฉียบพลัน ควรทายาสเตียรอยด์ในระยะเวลาสั้นที่สุด โดนเฉพาะยากลุ่มที่มีความแรงสูงมาก ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาเป็นเวลานาน ควรหยุดยาประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนเริ่มการใช้ยาใหม่

ยาทาสเตียรอยด์มีการใช้อย่างกว้างขวาง หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมาได้ จึงควรมีการเลือกใช้อย่างยาอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นความแรงของตัวยาและรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับชนิดของโรค ความรุนแรง และบริเวณที่เป็น และใช้ในปริมาณที่เหมาะสม จึงจะเกิดประโยชน์จากการใช้ยาสูงสุด ดังนั้น ก่อนเลือกใช้ยาทาสเตียรอยด์ทุกครั้ง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร และไม่ควรตัดสินใจเลือกใช้ตามความพอใจ เพราะอาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ยาทาสเตียรอยด์ได้

อ้างอิง
  1. Brunton L, Chabner B & Knollman B (editors). Goodman and Gilman’s The Pharmacological Basis of Therapeutics. 13th ed, Mcgraw-Hill ,2021.
  2. Daley-Yates PT, Larenas-Linnemann D, Bhargave C, Verma M. Intranasal Corticosteroids: Topical Potency, Systemic Activity and Therapeutic Index. J Asthma Allergy. 2021 Sep 8;14:1093-1104. doi: 10.2147/JAA.S321332. PMID: 34526783; PMCID: PMC8436259.
  3. Carlos G, Uribe P, Peñas PF. Rational use of topical corticosteroids. 2013 Aust Prescr 2013; 36:158–61.
  4. Phyllis D., Gennady R., Saul Y. Phospholipase A2 activities in skin physiology and pathology.
  5. European Journal of Pharmacology. 2012; 691:1–8.
  6. Horn E.J., Domm S., Katz H.I., Lebwohl M., Mrowietz U., Kragballe K. Topical corticosteroids in psoriasis: strategies for improving safety. Journal compilation @ 2009 European Academy of Dermatology and Venereology. 2010; 24:119–124.
  7. Chi C.C., Kirtschig G., Aberer W., Gabbud J.P., Lipozencic J., Karpati S., Haustein U.F.,
  8. Zuberbier T., Wojnarowska F. Evidence-based (S3) guideline on topical corticosteroids in
  9. pregnancy. British Association of Dermatologists. 2011; 165:943–952.