…. มีด้วยหรือ!? สิวในผู้ใหญ่ เกิดขึ้นจากอะไร แล้วจะแก้ได้อย่างไร …
การเกิดสิวในวัยผู้ใหญ่หมายถึงในช่วงอายุตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัย 25 ปีขึ้นไป โดยปกติแล้วสิวเป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อยในวัยรุ่นมากกว่าวัยอื่น ๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศจากเด็กเป็นหนุ่มสาว แต่อย่างไรก็ตาม สิวเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกช่วงวัย สิวในวัยผู้ใหญ่พบมากในกลุ่มหญิงใกล้หมดประจำเดือน ซึ่งเป็นอิทธิพลจากฮอร์โมนเพศที่ไม่สมดุล หรือในบางรายอาจพบสิวได้ตั้งแต่ในวัยเจริญพันธุ์ มีสิวขึ้นสัมพันธ์กับรอบเดือน ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ หรือมีการเริ่ม หรือหยุดรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
สาเหตุต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดสิวในวัยผู้ใหญ่
- ความเครียด: นักวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดและสิว ร่างกายผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนเพิ่มมากขึ้น โดยฮอร์โมนดังกล่าวนี้กระตุ้นต่อมไขมันและรูขุมขนให้ผลิตน้ำมันมากขึ้น เป็นปัจจัยหนึ่ง และยังอธิบายเพิ่มเติมว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวเรื้อรังนั้นมาจากความเครียดที่ถูกกระตุ้นเป็นระยะเวลานาน
- ประวัติครอบครัว: หากว่ามีบุคคลในครอบครัวเช่น พ่อแม่ พี่ชาย พี่สาว ที่มีสิว คุณเองก็มีโอกาสที่จะได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมมานี้มาด้วยเช่นกัน
- ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและหนังศีรษะ: หากคุณมีปัญหาสิวในวัยผู้ใหญ่ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงที่เหมาะสมกับผิวที่มีแนวโน้มเกิดสิวได้ง่าย ซึ่งจะระบุบนฉลากว่า ‘Non-comedogenic’ ‘Non-acnegenic’ ‘Oil-free’ ‘ไม่อุดตันรูขุมขน’ เพื่อเป็นการการันตีเบื้องต้นว่าจะไม่ก่อให้เกิดสิว
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: หากสงสัยว่าสิวที่เกิดขึ้นเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือกระตุ้นให้เกิดสิวมากขึ้น ในขั้นต้นควรได้รับการประเมินจากแพทย์ผู้สั่งจ่ายยา หรือเภสัชกรเพื่อประเมินความเป็นไปได้ของผลข้างเคียงนั้น ๆ ก่อน และยังไม่แนะนำให้หยุดยาทันที ทั้งนี้หากประเมินแล้วว่าเกิดจากยาจริง จะพิจารณาปรับเปลี่ยนยาไปใช้ทางเลือกอื่น ๆ แทน แต่หากไม่สามารถเปลี่ยนยาได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังเพื่อดูแลปัญหาสิวต่อไป
- ภาวะความเจ็บป่วยที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย: ในบางครั้งสิวอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางอย่าง แต่หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องแล้ว ปัญหาสิวมักจะหมดไป
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสิว ไม่ว่าจะในช่วงวัยใดๆ ก็ตาม หนีไม่พ้น 4 หัวข้อดังต่อไปนี้
1. การผลิตน้ำมัน หรือ sebum จากรูขุมขนที่มากเกินไป 2. รูขุมขนเกิดการอุดตันจากเซลล์ผิวที่ตายแล้ว 3. การเจริญของเชื้อแบคทีเรีย P. acnes 4. กระบวนการอักเสบ
ในการควบคุมทั้ง 4 ปัจจัยการเกิดสิว สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต การรักษาด้วยยาและหัตถการอื่น ๆ ควบคู่กันไป
เคล็ดลับการรักษาสิวโดยไม่ใช้ยา
- หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่ก่อให้เกิดกระบวนการอักเสบ เช่น ของหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต ผลิตภัณฑ์นม กลูเตน โซเดียม เป็นต้น
- จัดการความเครียด เนื่องจากความเครียดเป็นการกระตุ้นฮอร์โมน cortisol และ androgens ให้ผลิตเพิ่มขึ้น ไปกระตุ้นบริเวณต่อมไขมันให้ผลิตน้ำมันออกมามากขึ้นและก่อให้เกิดการอุดตันของสิวได้ ตัวอย่างการจัดการความเครียด เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายในแบบของตัวเอง พูดคุยกับคนรอบข้าง
- ควรล้างทำความสะอาดผิวหน้าวันละไม่เกิน 2 ครั้ง ด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยน ปราศจากน้ำหอมและสารก่อฟอง นอกจากนี้ การสครับหรือขัดผิว สามารถทำได้แต่ควรจะทำเพียงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บบริเวณรูขุมขน
แนะนำกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาสิว เพื่อแก้ไขตามแต่ละปัจจัยในการเกิดสิว สรุปได้ดังนี้
- Exfoliants (Peeling agent) หมายถึงสารที่มีคุณสมบัติในการช่วยผลัดเซลล์ผิว กระตุ้นให้เกิดการหลุดลอกของเซลล์ผิวเก่า ซึ่งปกติจะใช้เวลา 21-28 วัน สารผลัดเซลล์ผิวนี้จะช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ เกิดขึ้นในระยะเวลาที่สั้นขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการช่วยลดการอุดตันบริเวณรูขุมขน ตัวอย่างยาเช่น Salicylic acid, Sulfur นอกจากนี้ยังมีสารผลัดเซลล์ผิวในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอื่น ๆ ที่รู้จักกันในชื่อ AHA BHA PHA ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องช่วยให้ผิวพรรณกระจ่างใส ลดเลือนริ้วรอย และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิว
- Retinoids ชนิดทา กล่าวคือกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ ได้แก่ Tazarotene, Adapalene, Tretinoin มีคุณสมบัติในการลดการเกิดสิวอุดตัน โดยการทำให้เซลล์ผิวหนังหลวมตัว และเร่งกระบวนการแบ่งเซลล์ จึงช่วยให้สิวหลุดออกมาได้ง่าย ลดการอักเสบได้เล็กน้อย แต่ไม่มีคุณสมบัติต้านแบคทีเรีย P.acne นอกจากนี้ Tretinoin ยังช่วยลดเลือนริ้วรอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และลดการสูญเสียน้ำจากเซลล์ผิว สำหรับข้อควรระวังสำหรับการใช้ยาในกลุ่มนี้คือ มีความเป็นกรดสูงและก่อให้เกิดความระคายเคืองได้ง่าย ในการเริ่มต้นควรใช้ความเข้มข้นต่ำสุดเพื่อปรับสภาพผิวก่อน และอาจทาวันเว้นวัน ทั้งนี้ แนะนำให้ทาเฉพาะเวลากลางคืน และควรทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันผิวที่ไวต่อแสงมากขึ้นและตัวยาที่เสื่อมสลายได้ง่ายเมื่อถูกแสง และห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และวางแผนตั้งครรภ์ ระหว่างใช้ยาจะต้องคุมกำเนิด
- ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ตัวที่โดดเด่นที่สุดสำหรับการรักษาสิวคือ Benzoyl peroxide, Azelaic acid โดยมีผลช่วยลดการสร้างไขมัน ลดการเกิดสิวประเภทสิวอักเสบได้ดี จุดเด่นคือสามารถใช้ได้เพียงตัวเดียวโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา หรืออาจใช้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อชนิดอื่น ๆ เช่น clindamycin ทั้งชนิดทาและรับประทาน
เอกสารอ้างอิง
- American Academy of Dermatology Association. Adult acne. Cited 2023 Feb 20. Available from: https://www.aad.org/public/diseases/acne/really-acne/adult-acne
- Wells BG, DiPiro JT, Schwinghammer TL, DiPiro CV. Pharmacotherapy handbook. 9th edition. 2015 [Cited 2023 Feb 20].