อนุมูลอิสระ สารต้านอนุมูลอิสระ คือ อะไร
อนุมูลอิสระ (Free radical) คือ โมเลกุลหรืออะตอมที่ไม่เสถียร เนื่องจากขาดอิเล็คตรอนที่เคยอยู่เป็นคู่กันไป เมื่อมันไม่มีคู่ ตัวมันจะวิ่งไปไปหาคู่ใหม่ โดยการไปแย่งอิเล็คตรอนของโมเลกุลอื่นๆเพื่อมาเติมเต็มคู่ของมัน ถ้ามันมาจับกับอิเล็คตรอนของเซลล์ในร่างกายใด เซลล์ร่างกายนั้นก็จะเกิดความเสื่อมได้ เข่น ไขมัน โปรตีน DNA เป็นต้น
โดยทั่วไป ร่างกายของเราจะมีสารต้านอนุมูลอิสระในระดับเซลล์อยู่แล้ว เช่น Superoxide dismutase (SOD), Glutathione peroxidase (GPx) , Catalase เป็นต้น แต่เมื่อไหร่ที่อนุมูลอิสระมันมากเกินไป สารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายที่มีอย่างจำกัดก็ไม่สามารถกำจัดออกไปได้หมด สารอนุมูลอิสระที่เหลือจึงเข้ามาทำร้ายร่างกายได้ จะเกิดเป็นภาวะ oxidative stress ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัลไซเมอร์ โรคความผิดปกติของระบบประสาท โรคความผิดปกติของระบบสายตา โรคแก่ชรา รวมไปถึงถ้าอนุมูลอิสระไปทำร้าย DNA ก็ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของยีนต่างๆได้จนกลายเป็นมะเร็งได้
ผลที่เกิดจากการโดนอนุมูลอิสระทำร้ายที่คนทั่วไปทราบกันอยู่แล้วคือ ความแก่ชราและริ้วรอยต่างๆ แต่นอกจากนั้น อนุมูลอิสระบางชนิดสามารถทำร้ายดวงตา บางชนิดสามารถทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว และบางชนิดสามารถทำให้เซลล์กลายพันธุ์กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ด้วย ดังนั้นการเลือกรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระ ไม่ควรทานแค่ตัวเดียว แต่ควรทานให้หลากหลายเพื่อครอบคลุมการต้านอนุมูลอิสระหลายๆกลุ่มนั่นเอง
อนุมูลอิสระเกิดจากอะไร
- แค่หายใจ ก็เกิดอนุมูลอิสระแล้ว คำพูดนี้ไม่ได้เกินจริง ในการหายใจระดับเซลล์ของมนุษย์ เพื่อใช้ในการเผาผลาญสารอาหารให้เป็นพลังงาน จะเกิดอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น superoxide anion, hydroxyl radical, singlet oxygen, peroxynitrite เป็นต้น ซึ่งอนุมูลอิสระเหล่านี้ เป็นอนุมูลอิสระที่ว่องไวต่อการทำปฏิกิริยาต่างๆ ดังนั้น หากเรารับประทานอาหารมาก กระบวนการเผาผลาญพลังงานก็จะเกิดขึ้นมาก อนุมูลอิสระก็จะสร้างออกมามากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นการจำกัดการรับประทานอาหารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสุขภาพและช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายได้ ดังคำกล่าวที่ว่า กินน้อยแก่ช้า กินมากแก่เร็ว นั่นเอง
- แสงแดดจากดวงอาทิตย์จะสร้างอนุมูลอิสระชนิด (Singlet Oxygen) ที่ทำร้ายดวงตาและผิวหนัง
- การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง น้ำตาลไปทำปฏิกิริยาไกลเคชั่น โดยไปจับกับโปรตีนและไขมัน ทั้งภายในและภายนอกเซลล์ เกิดเป็นสาร Advanced glycation end product (AGEs) ออกมา ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความแก่ และความเสื่อมของร่างกาย อีกทั้งยังทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย เป็นผลทำให้เกิดโรคเรื้อรังอย่างเช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
- นอกจากนี้อนุมูลอิสระยังเกิดจากมลพิษ ควัน สิ่งแวดล้อมต่างๆ การรับประทานอาหารปิ้ง ย่าง ทอด หรือ การได้รับพิษจากโลหะหนักเป็นเวลานานๆ ก็เป็นสาเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกายได้เช่นกัน
วิธีลดอนุมูลอิสระในร่างกาย
1. กินน้อยแก่ช้า กินมากแก่เร็ว
2. ลดการรับประทานน้ำตาล เพื่อลดการสร้าง AGES ที่เป็นสาเหตุของความแก่ชราและการอักเสบในร่างกาย
3. หลีกเลี่ยงมลพิษ ฝุ่นควัน อาหารประเภท ปิ้ง ย่าง ทอด
4. ขจัดพิษจากโลหะหนักในร่างกาย เช่น การทำคีเลชั่น, การดีท๊อกซ์สารพิษ เป็นต้น
5. รับประทานผักผลไม้ให้ครบ 5 สี สารพฤกษเคมีในผักผลไม้ 5 สี โดยในแต่ละสีของผักผลไม้ จะได้สารที่มีประโยชน์แตกต่างกันไป ซึ่งสารเหล่านั้นก็ล้วนเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย
6. รับประทานอาหารเสริมที่ช่วยต้านการเกิดอนุมูลอิสระให้หลากหลายกลุ่ม เช่น
- สารต้านการเกิดอนุมูลอิสระชนิด superoxide anion ได้แก่ วิตามินเอ, วิตามินซี, วิตามินอี, โคเอ็นไซม์คิวเทน เป็นต้น
- สารที่เป็น cofactor ที่ช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระชนิด Superoxide dismutase (SOD) ในร่างกาย เช่น Zinc
- สารที่เป็น cofactor ที่ช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระชนิด Glutathione peroxidase (GPx) เช่น Selenium, Glutathion, N-acetylcystein เป็นต้น
ตัวอย่างสารอนุมูลอิสระ แต่ละตัวมักพบมากที่ไหนและเด่นในเรื่องอะไรกันนะ?
อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า อนุมูลอิสระมีอยู่หลากหลายกลุ่ม เกิดได้จากหลายที่ ดังนั้นเราจึงควรรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถต้านอนุมูลอิสระได้หลายที่ สารต้านอนุมูลอิสระบางชนิด ละลายได้ดีในไขมัน จึงเหมาะในการเพื่อป้องกันผิวหนังและสายตา บางชนิดละลายได้ดีในน้ำ บางชนิดละลายได้ทั้งในน้ำและไขมัน วันนี้เภสัชกรจะมายกตัวอย่างสารต้านอนุมูลอิสระที่หาได้ไม่ยาก มาให้ดูกันค่ะ
1. Ubiquinone (Coenzyme Q10)
พบมากในไมโตรคอนเดรีย จัดเป็น Mitichondria Antioxidant คือ เป็นตัวต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในกระบวนการเผาผลาญพลังงานในไมโตรคอนเดรีย, ช่วยลด lipid peroxidation, ป้องกันหัวใจขาดเลือด, เหมาะกับคนที่รับประทานยาลดไขมันกลุ่ม statin เนื่องจากผู้ที่รับประทานยาลดไขมันกลุ่มนี้ จะมีการสร้าง Co Q10 ที่ลดลง ทำให้อาจมีผลข้างเคียงในเรื่องของปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้
นอกจากนี้ พบว่าเมื่ออายุมากขึ้น การสร้าง Co Q10 ในร่างกายจะลดลง โดยเฉพาะที่ ตับ ไต หัวใจ ปอด
2. Alpha-Lipoic Acid
จัดเป็น Universal Antioxidant คือ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายได้ทั้งในน้ำและในไขมัน จึงพบได้ทั้งใน เลือด, เยื่อหุ้มเซลล์, ไมโตรคอนเดรียและพบได้ภายในเซลล์ จึงทำให้สามารถแทรกซึมเข้าไปต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในเซลล์ได้ทั่วร่างกาย ซึ่งมี 2 forms คือ S-form, R-form ซึ่ง R-form จะดูดซึมได้ดีกว่า
นอกจากนี้ ALA สามารถทำงานร่วมกับสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระตัวอื่นๆ โดยช่วย re-generate antioxidant ตัวอื่นๆได้ ทำให้สามารถนำ antioxidant เหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น วิตามินซี วิตามินอี กูลต้าไธโอน เป็นต้น ที่เมื่อใช้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระแล้ว ตัวมันจะกลายเป็นสารที่ไม่เสถียรเอง หรือที่เรียกว่า pro-oxidant นั่นเอง
อัลฟา ไลโปอิก แอซิด (Alpha-Lipoic Acid) จะมีหน้าที่หลักในการย่อยเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงาน โดยมีคุณสมบัติเสริมการออกฤทธิ์กับอินซูลิน กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนในการย่อยสลายน้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงาน และทำลายอนุมูลอิสระที่ถูกปล่อยออกมาจากกระบวนการสลายน้ำตาลกลูโคสภายในเซลล์ จึงมีส่วนช่วยให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดี และอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น โรคเกี่ยวกับปลายประสาทอักเสบ อาการชาตามปลายมือ-ปลายเท้า ต้อกระจก ได้
3. วิตามินซี (Vitamin C)
วิตามินซี เป็นวิตามินที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว เราสามารถพบวิตามินซีได้จากธรรมชาติทั่วๆไป เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ต่างๆ เป็นวิตามินที่ละลายน้ำ หน้าที่ของวิตามินซีจะเด่นในเรื่องการเสริมภูมิต้านทานของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างคอลลาเจน และยังช่วยในการะบวนการทำงานต่างๆของร่างกายอีกด้วย แต่ข้อเสียคือ วิตามินซีสลายได้ง่ายเมื่อโดนความร้อน และเมื่อได้รับในขนาดสูง สามารถเป็น pro-oxidant ได้
4. แอสตาแซนธิน (Astaxanthin)
คือสารสีแดงซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มคาโรเทนอยด์ (Carotenoids) ซึ่งเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติในสาหร่ายบางประเภทซึ่ง และทำให้เกิดสีแดงหรือสีชมพูในเนื้อปลาแซลมอน ปลาเทราท์ กุ้ง ล็อบสเตอร์ และอาหารทะเลอื่นๆ จัดเป็น King of Singlet Oxygen คือ สารอนุมูลอิสระที่ได้จากความร้อน และ UV จากแสงแดด ช่วยชะลอความเสื่อมของผิวและดวงตาได้ แต่มีข้อแนะนำเพิ่มเติม คือ เแอสตาแซนธิน เป็นสารในกลุ่มวิตามินเอ ที่ละลายในไขมัน ดังนั้นจึงควรรับประทานแอสตาแซนธินร่วมกับไขมันชนิดดี หรือรับประทานหลังอาหารเพื่อเพิ่มการดูดซึม
ดังนั้นหากอยากได้สารต้านอนุมูลอิสระที่มาจากแสงแดด การทานสารต้านอนุมูลอิสระคนละกลุ่มกันก็ไม่ได้ช่วยนะ
เอกสารอ้างอิง
- อนงนาฎ ไพนุพงศ์. อนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระกับสุขภาพ [อินเทอร์เน็ต]. เข้าถึงเมื่อ 26 กันยายน 2565. เข้าถึงได้จาก: file:///C:/Users/Pharmacist2/Downloads/pkru-scitech,+Journal+editor,+2-2560_20-27.pdf
- ปรัญรัชต์ ธนวิยุทธ์ภัคดี. ไกลเคชั่นกับการเกิดโรคในมนุษย์ [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 26 กันยายน 2565] เข้าถึงได้จาก: file:///C:/Users/Pharmacist2/Downloads/thaijtox,+%7B$userGroup%7D,+84-96-edited.pdf
- Mega Wecare. อัลฟา ไลโปอิก แอซิด (Alpha-Lipoic Acid) สารอาหารต้านโรคเบาหวาน [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 26 กันยายน 2565]. เข้าถึงได้จาก : https://www.megawecare.co.th/content/5786/alpha-lipoic-acid-anti-diabet-nutrients-%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%94#:~:text=%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%20%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A5,%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2%20%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A