Skip to content

อบเชย แต่ความสามารถไม่เชย

อบเชย เป็นเครื่องเทศที่ใครๆก็รู้จัก เพราะมักนำมาใช้ประกอบอาหาร ทำขนม และใส่ในเครื่องดื่มเป็นประจำ ส่วนในอดีตอบเชยเป็นหนึ่งในเครื่องยาของ “พิกัดตรีธาตุ” ประกอบด้วย กระวาน ดอกจันทน์ และอบเชย ใช้สำหรับเป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้ลม แก้เสมหะ แก้ไข้ “พิกัดตรีทิพย์รส” ประกอบด้วย โกฐกระดูก เนื้อไม้ และอบเชยไทย มีสรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงกระดูก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมในกองเสมหะ บำรุงโลหิต “พิกัดจตุวาตะผล” ประกอบด้วยผล 4 อย่าง คือ เหง้าขิงแห้ง กระลำพัก อบเชยเทศ และโกฐหัวบัว มีสรรพคุณแก้ไข้ ขับผายลม บำรุงธาตุ รักษาริดสีดวง “พิกัดทศกุลาผล” คือการจำกัดจำนวนตัวยาตระกูลเดียวกัน 10 อย่าง มีชะเอมทั้ง 2 (ชะเอมไทย ชะเอมเทศ) ลูกผักชีทั้ง 2 (ผักชีล้อม ผักชีลา) อบเชยทั้ง 2 (อบเชยไทย อบเชยเทศ) ลำพันทั้ง 2 (ลำพันแดง ลำพันขาว) ลูกเร่วทั้ง 2 (เร่วน้อย เร่วใหญ่) มีสรรพคุณ แก้ไข้ ขับเสมหะ ขับลมในลำไส้ บำรุงธาตุ บำรุงปอด แก้อัมพฤกษ์ อัมพาต บำรุงกำลัง  แต่ปัจจุบันมีการศึกษาฤทธิ์ของอบเชยมากขึ้น พบว่าอบเชยมีสรรพคุณที่เหมาะสมกับการรักษาโรคยอดฮิตในปัจจุบัน ได้แก่ เบาหวาน ไขมัน ความดัน และอาการอื่นๆได้อีกมากมาย

อบเชยช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

ในทางแพทย์แผนจีนใช้อบเชยในการบำบัดและรักษาโรคเบาหวานชนิดที่2 ซึ่งเป็นโรคที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงตลอดเวลา อันเป็นผลจากความบกพร่องในการส่งสัญญาณอินซูลิน โดยในช่วงแรกของการดื้อต่ออินซูลิน ร่างกายพยายามปรับตัวให้มีการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่สามารถส่งสัญญาณหรือออกฤทธิ์ได้เป็นปกติผู้ป่วยจึงยังคงมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยในต้นอบเชยมีสารโพลีฟีนอลจำนวนมาก ซึ่งส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือดช่วยทำให้ร่างกายมีความสามารถในการใช้อินซูลินเพื่อการสันดาปกลูโคสได้ดีขึ้น สามารถลดการดื้ออินซูลินทำให้เซลล์ต่างๆนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานให้หมดไปไม่ค้างอยู่ในเลือด

จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่าอบเชยสามารถเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และลดระดับไตรีกลีเซอไรด์ในเลือดได้ และจากการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานพบว่าอบเชยนอกจากจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดแล้วยังช่วยปรับระดับไขมันในเลือดให้ดีขึ้นได้ โดยลดระดับคอเลสเตอรอลรวมและไตรกลีเซอไรด์ อย่างไรก็ตามในทางการแพทย์ปัจจุบันแม้มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การรับประทานอบเชยหรือสารสกัดจากอบเชยอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่2 และผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้ แต่เนื่องจากงานศึกษายังไม่เพียงพอทำให้อาจต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกว่า อบเชยจะสามารถรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานในระยะยาวได้หรือไม่ และมีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหนหากรับประทานอย่างต่อเนื่อง

อบเชยช่วยลดระดับไขมันในเลือด ป้องกันเซลล์สมองฝ่อ

อบเชยถูกใช้ในการแพทย์แผนจีนอย่างแพร่หลาย ทำให้มีการศึกษาค้นคว้าและวิจัยถึงสรรพคุณของมันอยู่ตลอดพบว่า อบเชยสามารถช่วยลดไขมันในเลือดได้ถึง94% และยังสามารถนำมาใช้รักษาและป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและเซลล์สมองฝ่อได้ นอกจากนี้ยังช่วยสลายลิ่มเลือด ขยายหยอดเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และลดไขมันกับความหนืดของเลือดได้ดีขึ้น รักษาการขาดแคลนโลหิตที่มาหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงถึง89% และลดการเกิดลิ่มเลือดที่เกิดจากไขมันในเลือดสูงได้ถึง80%

อบเชยบรรเทาอาการปวดกระเพาะอาหารและกระเพาะลำไส้ได้

น้ำมันระเหยในเปลือกของต้นอบเชย โดยเฉพาะต้นอบเชยจีนนอกจากให้กลิ่นหอมยังมีความสามารถในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย Helicobactor pyroli ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นกระเพาะลำไส้ให้มีการบีบตัวแรงขึ้น เพิ่มน้ำย่อย ช่วยขับลม และคลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบในกระเพาะลำไส้ จึงสามารถช่วยแก้อาการปวดกระเพาะและลำไส้ได้

เอกสารอ้างอิง
  1. Hajimonfarednejad M, Nimrouzi M, Heydari M, Zarshenas MM, Raee MJ, Jahromi BN. Insulin resistance improvement by cinnamon powder in polycystic ovary syndrome: A randomized double-blind placebo controlled clinical trial. Phytother Res. 2018 Feb;32(2):276-283. doi: 10.1002/ptr.5970. Epub 2017 Dec 18. PMID: 29250843.
  2. Zare R, Nadjarzadeh A, Zarshenas MM, Shams M, Heydari M. Efficacy of cinnamon in patients with type II diabetes mellitus: A randomized controlled clinical trial. Clin Nutr. 2019 Apr;38(2):549-556. doi: 10.1016/j.clnu.2018.03.003. Epub 2018 Mar 11. PMID: 29605574.
  3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาอุบลราชธานี