ไข้หวัด ถือเป็นหนึ่งในโรคสามัญประจำบ้านที่เราต่างก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี จนแทบจะรู้สึกว่าไม่ได้มีความร้ายแรงใดๆสักเท่าไร หรือแม้กระทั่งกับโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ถึงจะรุนแรงกว่าแต่ด้วยความที่คำว่า ไข้หวัดเป็นอะไรที่ไม่ได้ดูอันตรายในการรับรู้ของผู้คนไปแล้ว ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงพิษภัยของไข้หวัดใหญ่มากเท่าที่ควร จนกลายเป็นเหตุให้ในแต่ละปีมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่กว่า 1 แสนราย และพบผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ทุกปี
พอเข้าสู่ฤดูฝน จะเริ่มเห็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในช่วงโควิด-19 ทำให้ผู้คนเก็บตัวในบ้าน ระมัดระวังด้านสุขอนามัย โอกาสแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่น้อยลง ร่วมกับในช่วงนั้นประชาชนห่างหายจากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทำให้ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ยังหมุนเวียนอยู่อย่างเบาบาง พอสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มกลับสู่สภาวะปกติ ทำให้พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากขึ้นอย่างชัดเจน โดยอัตราคนที่เป็นไข้หวัดแล้วมาโรงพยาบาล ตรวจพบว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 15% โดยไข้หวัดใหญ่จะมีช่วงระบาดมากในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน – ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม – มีนาคม) ของทุกปี
ไข้หวัดใหญ่ คือ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้ติดเชื้อ มีไข้สูง ปวดหัว ตัวร้อน ไอจาม มีน้ำมูก และปวดเมื่อยตามตัว มี 2 สายพันธุ์หลัก ได้แก่
ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ฟลู A” ถือเป็นสายพันธุ์ที่มีความอันตรายมากที่สุด เพราะสามารถกลายพันธุ์ได้ ตลอดจนแพร่ระบาดได้เป็นวงกว้าง ทำให้เชื้อมีความเป็นลูกผสม และมีฤทธิ์รุนแรง โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A สามารถแบ่งแยกออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ย่อยที่พบบ่อย คือ H1N1 และ H3N2
ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B
หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ฟลู B” ถือเป็นสายพันธุ์ที่มีความอันตรายรุนแรงเช่นกัน ที่พบได้บ่อย คือ B Victoria , B Yamagata , B Phuket
การแพร่เชื้อติดต่อ
เชื้อไวรัสจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แพร่ติดต่อไปยังคนอื่น ๆ โดยการไอจามรดกันโดยตรง หรือหายใจเอาฝอยละอองเข้าไป หากอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร บางรายได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือ หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก ผู้ป่วยอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย โดยช่วง 3 วันแรก จะแพร่เชื้อได้มากสุด และระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน
อาการของไข้หวัดใหญ่
โดยทั่วไปไม่ต่างจากไข้หวัด หากแต่มีอาการที่รุนแรงกว่า โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่าอาการที่เราเป็นอยู่นั้นไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดาแต่เป็นไข้หวัดใหญ่ ประกอบไปด้วย
- มีไข้สูงมากกว่าปกติ คือตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- มีอาการปวดศีรษะ หนาวสั่น อ่อนเพลีย
- มีน้ำมูกไหล คัดจมูก เจ็บคอ มีอาการไอ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตามร่างกาย แขน ขา ตามตัว
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์
การดูแลและป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคไข้หวัดใหญ่นั้น สามารถทำได้ในแนวทางเดียวกันกับโรคระบบทางเดินหายใจทุกชนิด ได้แก่
- ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร
- ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกันกับผู้อื่น
- พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่
- ใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอจาม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
- สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปยังสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน อาทิ ห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้า และโรงภาพยนตร์ เป็นต้น
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น เบต้ากลูแคน อะราบิโนกาแลคแทน หรือวิตามินซี
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ช่วยลดโอกาสป่วย ลดความรุนแรงของโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดโอกาสในการเสียชีวิต ตลอดจนช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้มากกว่า
ประเทศไทยมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 ประเภท ได้แก่
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน (Standard Dose) ซึ่งจะมีทั้งชนิด 3 สายพันธุ์ และชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ (ขนาด 15 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส)
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง (High Dose) สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป สามารถฉีดได้ทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีร่างกายปกติ และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีเฉพาะชนิด 4 สายพันธุ์เท่านั้น (ขนาด 60 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส)
การมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูงสำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีร่างกายอ่อนแอ ทำให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนต่ำ จากการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุเกิน 65 ปี ฉีดวัคซีนขนาดมาตรฐาน ผลการศึกษาปรากฏว่า ผู้สูงอายุบางรายสร้างภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี ไม่เหมือนกับช่วงอายุอื่นๆ จึงมีการศึกษาพัฒนาโดยการเพิ่มขนาดของตัวยาในแต่ละสายพันธุ์เป็น 60 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ ผลการวิจัยพบว่าสามารถลดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดที่มีอาการได้สูงกว่าชนิดที่เป็นมาตรฐาน (15 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์) ร้อยละ 24 และยังสามารถลดการนอนโรงพยาบาลจากไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบได้สูงกว่าขนาดมาตรฐานร้อยละ 64.4 และลดการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ได้สูงกว่าขนาดมาตรฐานร้อยละ 48.9 แต่อาจพบผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดมากกว่าขนาดมาตรฐาน แต่อย่างไรก็ตามพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสามารถลดความรุนแรงของโรคได้
เอกสารอ้างอิง
- Boktor SW, Hafner JW. Influenza. [Updated 2023 Jan 23]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2023 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK459363/
- Dalcin D, Kwong JC. High-dose influenza vaccination. CMAJ. 2019 Mar 18;191(11):E313. doi: 10.1503/cmaj.181477. PMID: 30885970; PMCID: PMC6422785.