อาการสะอึก เป็นอาการอย่างหนึ่งที่เชื่อว่าเกือบทุกคนเคยเป็น บ้างก็เป็นบางครั้งระยะเวลาไม่นาน บ้างก็เป็นบ่อยจนรำคาญ มีความเชื่อหลายๆอย่างที่บอกกันว่าอาการสะอึกมาจากอาการขาดน้ำ จึงควรดื่มน้ำตามมากๆ หรือกลั้นหายใจถึงจะหายได้ วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยกับปัญหานี้กันว่าเกิดจากอะไรกันแน่
อาการสะอึก เกิดจาก การหดตัวอย่างฉับพลันของกล้ามเนื้อกระบังลมที่อยู่ระหว่างช่องอกและช่องท้อง การหดตัวนี้ส่งผลให้เกิดการหายใจเข้าอย่างรวดเร็ว แต่อากาศที่เข้ามานั้นถูกกักโดยเส้นเสียงที่จะปิดลงทันทีทันใดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกล่องเสียง ทำให้มีเสียงสะอึกตามมาในที่สุด ซึ่งเป็นกลไกการทำงานแบบรีเฟล็กซ์ที่ไม่ผ่านสมอง เป็นวงจรการทำงานของเส้นประสาทควบคุมกระบังลมและกล่องเสียง ส่วนมากเกิดเองหายเองในเวลาชั่วคราว แต่หากเกิดอาการนานเกิน 48 ชั่วโมง (persistent hiccups) ควรระมัดระวังและอย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเป็นผลมาจากโรคชนิดต่างๆต่อไปนี้ ควรหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาจากต้นเหตุ
สาเหตุจากโรคต่างๆ ได้แก่
- โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด ปอดบวม และเยื่อหุ้มปอดอักเสบ
- โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อนทำให้มีการระคายเคืองที่กระบังลม ลำไส้เล็กอุดตัน และลำไส้อักเสบเรื้อรัง การติดเชื้อในช่องท้อง
- โรคที่กระทบต่อเส้นประสาทที่ควบคุมกระบังลม เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คอพอก และคอหอยอักเสบ
- โรคที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เนื้องอกที่กระทบสมอง ลมชัก สมองอักเสบ และสมองได้รับการกระทบกระเทือน
- ปฏิกิริยาตอบสนองทางจิตใจ เช่น การเผชิญภาวะช็อก ความเศร้า ความตื่นเต้น ความเครียด และความกลัว
- การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในเลือดที่อาจเกิดจากแอลกอฮอล์ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะขาดแคลเซียมหรือโพแทสเซียมในเลือด
การได้รับยาบางชนิดก็อาจส่งผลข้างเคียงให้มีอาการสะอึกได้เช่นกัน เช่น
- ยาชา (Anaesthesia) มักใช้สำหรับการผ่าตัดเพื่อทำให้ชาหรือไม่รู้สึกตัว ยาสลบที่เป็นแก๊สเข้าไปในกระเพาะอาหารและทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร หรือระหว่างการผ่าตัดมีการจับต้องหรือตึงอวัยวะในช่องท้องเกิดการกระตุ้นผ่านทางเส้นประสาท
- เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) เป็นยาระงับประสาท
- คอร์ติโคสเตียร์รอยด์ (Corticosteroids) ยาสำหรับลดอาการบวมอักเสบ
- บาร์บิทูเรต (Barbiturates) ยาสำหรับใช้ป้องกันอาการชัก
- ยารักษาภาวะความดันโลหิตสูงอย่างเมทิลโดปา (Methyldopa)
- ยาระงับปวดโอปิออยด์ (Opioids)
- ยาที่ใช้รักษาทางเคมีบำบัด
การรักษาอาการสะอึก
1. วิธีทางกายภาพ
วิธีการส่วนมากเป็นการทำให้เกิดสิ่งกระตุ้นชนิดใหม่เพื่อไปทำให้เกิดการยับยั้งรีเฟล็กซ์ ได้แก่ การกลั้นหายใจ การแกล้งให้ตกใจ การกดกระบอกนัยน์ตา การนวดหลอดเลือดแดง Carotid บริเวณลำคอ การกระตุ้นเส้นประสาท Phrenic ด้วยไฟฟ้า แต่บริเวณที่นิยมใช้กระตุ้นกันมากได้แก่บริเวณ pharynx เช่น การดื่มน้ำเย็นๆเร็วๆ การกลืนก้อนน้ำแข็งหรือน้ำตาลทราย และการใช้สายยางกระตุ้น pharynx (หลอดคอ)
2. การรักษาด้วยยา
สำหรับการรักษาด้วยยาทั่วไปคือการให้ยาลดอาการท้องอืด และยาที่ทำให้การเคลื่อนที่ของอาหารเป็นจากบนลงล่างอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น ที่นิยมใช้ร่วมกันคือ ยา Simethicone เป็นยาเม็ดเคี้ยวกลืนแก้ท้องอืด หรือยาธาตุน้ำขาวร่วมกับยา Domperidone, ยาChlorpromazine โดยหากผู้ป่วยที่มีอาการติดต่อกันมากกว่า 12-24 ชั่วโมงจะพิจารณาให้ยาลดความไวของกระแสประสาท Baclofen หรือ Gabapentin
References
- Chang FY, Lu CL. Hiccup: mystery, nature and treatment. J Neurogastroenterol Motil. 2012 Apr;18(2):123-30. doi: 10.5056/jnm.2012.18.2.123. Epub 2012 Apr 9. PMID: 22523721; PMCID: PMC3325297.
- Dana WJ, Fuller MA, Goldman MP, Golembiewski JA, Gonzales JP, Lowe JF, et al. Drug information handbook with international trade name index. 22nd ed. Ohio: Lexicomp; 2013. p.407.