Skip to content

สีของปัสสาวะนั้นเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ใช้บ่งชี้สุขภาพของมนุษย์ เห็นได้จากการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลทุกครั้งจะต้องมีการตรวจปัสสาวะ (Urine Analysis) ร่วมด้วยเสมอ ในส่วนของร้านขายยาเองบางครั้งก็พบว่ามีคนไข้เข้ามาสอบถามด้วยความกังวลใจมิใช่น้อยเกี่ยวกับปัสสาวะของตัวเองที่มีสีผิดแปลกไปจากเดิม บางคนกลัวว่าจะเป็นโรคร้ายแรงจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ แท้จริงแล้วสาเหตุของการเปลี่ยนสีปัสสาวะนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นจากอาหารที่รับประทาน ปริมาณน้ำที่ดื่ม ยาที่ใช้ หรือแม้แต่โรคบางชนิดก็ส่งผลต่อสีของปัสสาวะได้

วันนี้เราจะพาทุกท่านมาดูกันว่า“สีปัสสาวะ บอกอะไรเราได้บ้าง?”

❤️ปัสสาวะสีเหลือง : โดยปกติปัสสาวะของคนเรามักจะมีสีเหลืองอ่อนและใส แต่ถ้าวันนั้นดื่มน้ำน้อย ปัสสาวะจะมีสีเหลืองเข้ม จึงควรดื่มน้ำให้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน หรือหลังออกกำลังกาย แต่ถ้าหากปัสสาวะมีสีใสมากจนเหมือนน้ำ แสดงว่าเราดื่มน้ำในปริมาณที่มากเกินไป หรืออาจบ่งชี้ได้ถึงสภาวะบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน การกินยาขับปัสสาวะ โรคไต เป็นต้น

❤️ปัสสาวะสีส้ม : ร่างกายขาดน้ำรุนแรง และอาจหมายถึงร่างกายมีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดีหรือตับ หรืออาจหมายถึงการรับประทานแครอท หรือสีผสมอาหารที่มากเกินไป รวมถึงยาบางชนิดอาจทำให้ปัสสาวะเป็นสีส้มได้ ตัวอย่างเช่น ยารักษาวัณโรคอย่าง Rifampicin และ Isoniazid หรือแม้แต่วิตามินเองก็ยังส่งผลได้เช่นกัน โดยเฉพาะวิตามินบี12 และบี2 ในขนาดสูง

 ❤️ปัสสาวะสีน้ำตาล : อาจหมายถึงร่างกายขาดน้ำรุนแรง หรืออาจเกิดจากการสลายตัวของกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ การมีโรคตับ หรือมะเร็งผิวหนังที่ส่งผลต่อเม็ดสี ก็อาจทำให้ปัสสาวะมีสีน้ำตาลได้ รวมไปถึงอาหารบางชนิด เช่น ถั่วปากอ้า (Fava beans) หรือผักรูบาร์บ (Rhubarb) นอกจากนี้ยังมียาบางชนิดที่ส่งผลได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ Metronidazole, ยารักษามาลาเรีย Chloroquine เป็นต้น

❤️ปัสสาวะสีชมพู-แดง : อาจหมายถึงการมีเลือดเจือปนอยู่ในปัสสาวะ หรือมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต โรคไต เนื้องอกหรือมะเร็งที่ไต กระเพาะปัสสาวะ หรือต่อมลูกหมาก รวมถึงอาหารบางชนิด เช่น บีทรูท ผลไม้ตระกูลเบอรี่ กระเจี๊ยบแดง เป็นต้น

❤️ปัสสาวะสีฟ้า-เขียว : เป็นภาวะที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก อาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของสีผสมอาหาร หรือเกิดจากโรคทางพันธุกรรมที่หายากบางชนิดที่ส่งผลให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงผิดปกติ รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดในทางเดินปัสสาวะ สำหรับยาที่อาจส่งผลได้ คือ ยาแก้ปวดลดการอักเสบ Indomethacin, ยาต้านเศร้า Amitriptyline, ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร Cimetidine เป็นต้น

❤️ปัสสาวะสีม่วง : เป็นสิ่งที่พบได้ยาก แต่อาจพบได้ในถุงระบายน้ำปัสสาวะของผู้ป่วยสูงอายุที่ใส่ท่อสวนปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างแบคทีเรียกับถุงระบายน้ำปัสสาวะที่เป็นพลาสติก จนทำให้ปัสสาวะกลายเป็นสีม่วงได้ในที่สุด  

http://www.thonburi2hospital.com/uploads/images/275986700_950380958995983_8200697215047082561_n.jpg

ยาที่ทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสีหลังรับประทาน

จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ทำให้ปัสสาวะของเราเปลี่ยนแปลงไปนั้นมีอยู่มากมาย ทั้งจากประเภทอาหารที่รับประทาน น้ำที่ดื่ม หรือแม้กระทั่งอาการเจ็บป่วยทั้งแบบเล็กน้อยและแบบรุนแรง ดังนั้นการหมั่นสังเกตสีปัสสาวะของเราจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมไปถึงการตรวจสอบความผิดปกติอื่น เช่น ความขุ่นใส การเกิดฟอง กลิ่นที่เปลี่ยนไปก็สามารถบอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามหากท่านพบเจอลักษณะปัสสาวะที่ผิดปกติเหล่านี้ ก็อย่าปล่อยให้ความกังวลใจอยู่กับเรานาน ควรรีบมาปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมต่อไป

อ้างอิง

  1. Associates, U. (2019, Apr 24). What Does Urine Color Say About Your Health? Retrieved Oct 2022, from https://www.denverurology.com/urology-blog/urine-color/
  2. Foundation, U. C. (n.d.). Urine Color…What You Should Know. Retrieved Oct 2022, from 2020: file:///C:/Users/Pharmacist%201/Downloads/Urine-Color-Fact-Sheet.pdf
  3. โรงพยาบาลธนบุรี 2. (ม.ป.ป.). ปัสสาวะ 12 สี บ่งบอกอะไรเราบ้าง? สืบค้นเมื่อ ตุลาคม 2565 จาก https://www.thonburi2hospital.com/health-detail.php?id=70
  4. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี. (ม.ป.ป.). ยาที่ทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสีหลังรับประทาน. สืบค้นเมื่อ ตุลาคม 2565 จาก https://pri.moph.go.th/services/people/healthknowledge/41-oryor/56-drug