ปัจุบันเทคโนโลยียุคดิจิตอลเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกช่วงวัยของชีวิตทำให้ทั้งโลกใบนี้สามารถติดต่อสื่อสารได้เพียงเสี้ยววินาที แต่กระนั้นปัญหาทางสุขภาพจากการใช้สื่อดิจิตอลก็ตามมาเช่นกัน ยิ่งระยะเวลาในการใช้งานมากขึ้นด้วยแล้วยิ่งมีผลต่อนัยน์ตามากขึ้น
ในภาวะปกติคนทั่วไปจะมีการกระพริบตาเฉลี่ยที่ 22 ครั้งต่อนาที แต่เมื่อเราให้ความสนใจกับกิจกรรมใดๆ เช่น ใช้สายตามองผ่านจอในมือถือ คอมพิวเตอร์ หรือจอ LED อัตราการกระพริบตาลดลงเป็น 10 และ 7 ครั้งต่อนาที ตามลำดับ ปัจจุบันจึงพบผู้ป่วยที่มีอาการตาแห้งเนื่องมาจากการใช้งานผ่านจอมือถือ คอมพิวเตอร์ รวมถึงการใช้สายตานานมากขึ้น หากเราละเลยสัญญาณเตือนต่างๆของดวงตา อาจส่งผลให้การมองเห็นแย่ลงและเกิดอาการรุนแรงตามมาได้
อาการ และสาเหตุของตาแห้ง
อาการตาแห้งเป็นอาการที่สามารถพบได้โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน หรือในผู้สูงอายุ โดยจะมีอาการได้แก่ คันตา รู้สึกตาแห้ง ไม่สบายตา ระคายเคืองตา มีน้ำตาไหลมาก ตาแดง เป็นต้น สาเหตุของอาการตาแห้งอาจมาจาก มลภาวะจากสิ่งแวดล้อม อากาศร้อน การโดนลมหรือพัดลมเป่าหน้า การสวมใส่เลนส์สัมผัส (contact lens) การทำเลสิค (Lasik) หรือรีเลกซ์ (ReLex) หรือในปัจจุบันที่มีการใช้มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ในการใช้ชีวิตค่อนข้างมาก ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่เกิดอาการตาแห้งได้ (1)
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการตาแห้ง
- จากการใช้คอมพิวเตอร์ มือถือ การใช้สายตาเป็นเวลานาน
- การใส่เลนส์สัมผัส, เลนส์ตาหวานที่ขนาดใหญ่กว่าปกติ
- ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในหญิงวัยหมดประจำเดือน
- สภาวะสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง ลม มลภาวะ
- การใช้ยาแผนปัจจุบันที่มีฤทธิ์ลดการสร้างสารเมือกทั่วร่างกาย เช่น ยาลดน้ำมูก เป็นต้น
- ปัจจับเสี่ยงภายนอก เช่น ความผิดปกติและการอักเสบของเปลือกตาและขนตา การม้วนตัวของเปลือกตา
วิธีรักษาอาการตาแห้ง
อ้างอิงจากวิธีการจัดการและรักษาอาการตาแห้งโดยอนุกรรมการของ TFOS DEWS II (Tear Film and Ocular Surface Society’s Dry Eye Workshop II) ปี 2017 แนะนำผู้ที่มีอาการตาแห้งในเบื้องต้นดังนี้
- แนะนำให้ทราบถึงสาเหตุของ อาการตาแห้งเพื่อให้ผู้ที่มีอาการหลีกเลี่ยงสาเหตุของอาการ
- รับประทานอาหารเสริมที่ช่วยลดอาการตาแห้ง โดยเป็นอาหารเสริมที่ประกอบด้วยกรดไขมันที่สำคัญ (Essential fatty acid) ยกตัวอย่างเช่นการทานน้ำมันปลา (Fish oil)
- การใช้น้ำตาเทียมเพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง แนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสียน้อยที่สุดเพื่อป้องกันการสะสมที่ทำให้เกิดผลเสียต่อดวงตาในระยะยาว
- การทำความสะอาดเปลือกตาที่ถูกสุขอนามัย ร่วมกับการประคบตา โดยอาจใช้เป็นผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น หรือสามารถใช้ที่ประคบอุ่นประคบไปที่เปลือกตา
สัญญาณเตือนที่ควรไปพบจักษุแพทย์
เมื่อพบว่าอาการตาแห้งเกิดถี่ขึ้นมากและรบกวนชีวิตประจำวัน และที่สำคัญคือการมองเห็นลดลง หากไม่ได้รับการรักษาหรือแก้ไขสาเหตุที่ถูกต้อง อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนเป็นอันตรายต่อดวงตาได้
น้ำตาเทียมมีกี่ประเภทและมีความแตกต่างกันอย่างไร
น้ำตาเทียมสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้ดังนี้
1. น้ำตาเทียมแบบรายวัน
ประกอบด้วยสารสำคัญที่ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นกับดวงตา โดยมากจะบรรจุในหลอดพลาสติกที่บรรจุด้วยเทคนิก เป่า-เติม-ปิด (Blow-Fill-Seal) มีอายุ 1 วันหลังจากเปิดใช้งาน ไม่มีส่วนประกอบของสารกันเสีย ผู้ที่ใส่เลนส์สัมผัสสามารถใช้ได้โดยไม่ทำให้เลนส์สัมผัสขุ่น
2. น้ำตาเทียมแบบรายเดือน
ประกอบด้วยสารสำคัญที่ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นกับดวงตาเช่นเดียวกับแบบรายวัน แต่ข้อแตกต่างคือ มีอายุ 1 เดือนหลังจากเปิดใช้งานแล้ว มีส่วนประกอบของสารกันเสียที่ใช้ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์หลังจากเปิดใช้งาน ซึ่งสารกันเสียบางตัวยกตัวอย่างเช่น Benzalkonium chloride มีรายงานว่าอาจทำให้เกิดการอักเสบ การระคายเคือง หรือทำให้หัตถการที่เกี่ยวข้องกับต้อหินล้มเหลว (Glaucoma surgery failure) สำหรับผู้ที่สวมเลนส์สัมผัสสามารถใช้ได้ในบางยี่ห้อที่มีการทดสอบว่าไม่ทำให้เลนส์สัมผัสขุ่น
วิธีใช้ผลิตภัณฑ์น้ำตาเทียม
- การหยอดตา ควรหยอดโดยปลายจุกยาห่างเปลือกตาอย่างน้อย 1 นิ้ว
- ควรระมัดระวังไม่ให้ปลายหลอดน้ำตาเทียมสัมผัสปลายนิ้วมือหรือส่วนใดของร่างกาย เพื่อป้องกันการปนเปื้อน
- โดยทั่วไปน้ำตาเทียมจะมี 2 รูปแบบคือ ใช้ภายใน 1 วัน และ 30 วัน หากครบกำหนดอายุการใช้งานแล้วควรทิ้งส่วนที่เหลือทันที
ยาหยอดตาที่ผสมวิตามินและสารให้ความเย็น
กำลังเป็นที่นิยมสำหรับยาหยอดตาที่ผสมวิตามินและสารที่ทำให้ดวงตารู้สึกเย็น ก่อนที่จะพูดถึงยาหยอดตา ต้องขออธิบายถึงโครงสร้างของดวงตาคร่าวๆก่อนว่าประกอบด้วย กระจกตา (Cornea) และเยื่อบุตา (Conjuctiva) ที่ทำหน้าเป็นโครงสร้างของดวงตา และเป็นตัวปกป้องสารที่จะผ่านเข้าสู่ดวงตา ซึ่งโดยปกติแล้วจะยอมให้สารผ่านได้ค่อนข้างน้อยซึ่งเป็นกลไกทางธรรมชาติเพื่อปกป้องดวงตา เพราะฉะนั้นการใช้ยาหยอดตาที่ผสมวิตามินอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับบำรุงดวงตาของเรา เนื่องจากไม่สามารถผ่านเข้าสู่ดวงตาได้ หากต้องการบำรุงสายตาอาจเลือกอาหารเสริมชนิดรับประทาน เช่น น้ำมันปลา ลูทีน บิลเบอรี่ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- Tear Film and Ocular Surface Society’s Dry Eye Workshop II [Internet]. 2019 [cited 01 March 2022]. Available from: https://www.tearfilm.org/dettnews-tfos_dews_ii_patient_summary/6814_5519/eng/
- Eva R, Eva M, Elisa Y. Corneal and conjunctival drug permeability: Systematic comparison and pharmacokinetic impact in the eye [Internet]. European Journal of Pharmaceutical Sciences; 2018 [cited 03 March 2022]. Available from: https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0928098718301556?via%3Dihub
- Trent TC. Dry Eye Disease (Keratoconjunctivitis Sicca) [Internet]. Medscape; 2022 [cited 01 March 2022]. Available from: https://emedicine.medscape.com/article/1210417
- รศ.พญ.วิมลวรรณ ตั้งปกาศิต. ตาแห้งยุคดิจิตอล