Skip to content

จะรู้ได้ยังไงว่าหยุดหายใจขณะหลับ

คุณกำลังมีอาการเหล่านี้อยู่บ้างหรือเปล่า ?

  • อ่อนเพลีย ง่วงนอนอย่างมากในเวลากลางวัน
  • กรนเสียงดัง 
  • สะดุ้งตื่นกลางดึก เพราะรู้สึกหายใจไม่ออกหรือสำลัก
  • ตื่นนอนในตอนเช้าแล้วรู้สึกปากแห้ง คอแห้ง
  • ปวดศีรษะในตอนเช้า
  • ขาดสมาธิในการทำงาน ไม่สามารถทำงานต่อเนื่องนาน ๆ ได้
  • มีอารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียวหรือหงุดหงิดง่าย

เหล่านี้คือสัญญาณเตือนของ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea; OSA) เป็นสภาวะผิดปกติของระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อย เกิดขึ้นขณะที่เรานอนหลับซึ่งแต่ละคนมีดีกรีความรุนแรงที่แตกต่างกันไป และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต

เมื่อไหร่ที่เราควรจะไปพบแพทย์ ?

  • มีเสียงกรนดังรบกวนการนอนของตัวเองหนรือรบกวนผู้อื่น
  • สะดุ้งตื่นเพราะหายใจไม่ออกหรือสำลัก
  • หยุดหายใจในระหว่างที่นอนหลับ
  • รู้สึกง่วงนอนหรือสะลึมสะลือตลอดวัน ผลอยหลับไปในระหว่างทำงาน ไม่สามารถควบคุมได้

อะไรคือสาเหตุของการหยุดหายใจขณะหลับ ?

กล้ามเนื้อด้านหลังลำคอที่ปกติทำหน้าที่ตึงตัวเพื่อค้ำจุนบริเวณเพดานปากและลิ้นคลายตัวมากเกินไป ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบและไม่สามารถหายใจเอาอากาศเข้าไปได้ ด้วยเหตุนี้เอง ระดับออกซิเจนในเลือดลดลงเพราะมีการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น จากนั้น สมองจะตอบสนองต่อภาวะขาดออกซิเจนโดยอัตโนมัติ กระตุ้นให้คุณตื่นจากการนอนหลับเป็นเวลาสั้น ๆ โดยบางครั้งคุณอาจไม่รู้สึกตัว เพื่อให้ทางเดินหายใจถูกเปิดออก รูปแบบนี้จะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ 5 – 30 ครั้งหรือมากกว่าภายใน 1 ชั่วโมงตลอดทั้งคืน ซึ่งทำให้คุณไม่สามารถนอนหลับไปได้จนทำให้ไม่สามารถที่จะนอนหลับได้ลึกเพียงพอ และทำให้รู้สึกง่วงในช่วงเวลาที่ต้องตื่น

ภาพแสดงลักษณะทางเดินหายใจส่วนบนที่ผิดปกติ นำไปสู่การหยุดหายใจขณะหลับ
ที่มา: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sleep-apnea/symptoms-causes/syc-20377631

เกิดความผิดปกติขึ้นที่สมอง ทำให้ไม่สามารถส่งสัญญาณประสาทไปยังกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจได้ตามปกติ ทำให้คุณไม่สามารถหายใจได้ในเวลาสั้น ๆ  ซึ่งสาเหตุนี้จะพบได้ค่อนข้างน้อยกว่าสาเหตุแรก 

รู้หรือไม่ ?  หากคุณมีปัจจัยเหล่านี้ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้หยุดหายใจขณะหลับได้นะ

  • มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน หากมีการสะสมของไขมันบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้อุดกั้นการหายใจได้
  • เส้นรอบวงคอ ในคนที่มีรอบคอหนามักจะมีทางเดินหายใจที่ตีบแคบ
  • มีประวัติคนในครอบครัวมีช่องคอที่แคบ (narrow throat) หรือมีภาวะต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดินอยด์โตจนไปอุดกั้นทางเดินหายใจ โดยมากพบในวัยเด็ก
  • จากสถิติ เพศชายมีความเสี่ยงที่จะหยุดหายใจขณะหลับได้มากกว่าเพศหญิง 2-3 เท่าเลยทีเดียว ในเพศหญิงจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์หรืออยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน
  • ผู้สูงอายุมีโอกาสหยุดหายใจขณะหลับได้มากขึ้น
  • มีประวัติดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยาหรือสารเคมีที่มีฤทธิ์กดประสาท เนื่องจากสารดังกล่าวมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อบริเวณลำคอ
  • ผู้มีประวัติเคยสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงในการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น การสูบบุหรี่เพิ่มปริมาณการอักเสบในทางเดินหายใจและอาจมีการคั่งของของเหลวบริเวณทางเดินหายใจ
  • ในผู้ที่มีอาการคัดแน่นจมูก หรือมีปัญหาการหายใจผ่านทางรูจมูก ไม่ว่าจะเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายหรือโรคภูมิแแพ้ มักนำไปสู่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จากการหยุดหายใจขณะหลับ

  • อ่อนเพลียในเวลากลางวัน อาจทำให้มีปัญหาขาดสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นทั้งในการทำงานกับเครื่องจักรและการขับขี่ยานพาหนะ นอกจากนี้ยังทำให้อารมณ์แปรปรวน มีปัญหาในการเข้าสังคมได้อีกด้วย
  • ความดันโลหิตสูงและปัญหาโรคหัวใจ การที่ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลงเฉียบพลันตอนที่หยุดหายใจ ร่างกายเกิดการปรับตัวให้มีความดันโลหิตเพิ่มขึ้นและสร้างความเครียดให้กับระบบหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) จังหวะการเต้นหัวใจผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ทันที

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หากใครรู้สึกกังวลหรือเข้าข่ายว่าจะมีอาการดังกล่าวแต่ไม่แน่ใจว่าใช่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือเปล่า … ทางนี้มีคำตอบ

หากต้องการที่จะทราบอย่างแน่ชัดว่าเรามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ นอกจากที่จะสังเกตและประเมินพฤติกรรมเบื้องต้นแล้ว สามารถที่จะไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยโดยการทำ Sleep test เพื่อติดตามการหายใจและการทำงานของร่างกายในขณะนอนหลับ การทดสอบแบ่งเป็นสองอย่างหลัก ๆ คือ

  1. Nocturnal polysomnography เป็นการตรวจมาตรฐาน เป็นการตรวจภายในโรงพยาบาล โดยอาศับเครื่องมือทางการแพทย์ เก็บข้อมูลโดยละเอียด เช่น การตรวจวัดคลื่นสมอง การกรอกตา ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ การวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การวัดคุณภาพลมหายใจที่ผ่านเข้าออกทางจมูกและปาก ระดับออกซิเจนในเลือด เป็นต้น

ภาพการทำ Nocturnal polysomnography
ที่มา: https://www.aboutmyclinic.com/dranilmadake/terms/Sleep-Studies-POLYSOMNOGRAPHY/4334

2. Home sleep test เป็นทางเลือกที่สะดวกและประหยัดมากขึ้นเมื่อเทียบกับการตรวจที่โรงพยาบาล โดยจะมีการติดตั้งเครื่องมือที่บ้านและตรวจวัดชีพจร ระดับออกซิเจนในเลือด และลักษณะการหายใจ ทั้งนี้ อาจมีข้อจำกัดบางประการที่ไม่สามารถใช้วิธีการทดสอบนี้ได้กับทุกคน โดยเฉพาะในผู้ที่มีระดับอาการรุนแรง

การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นมีอะไรบ้าง ? 

แพทย์จะพิจารณาจากระดับความรุนแรงของโรค โดยในผู้ที่มีอาการน้อยแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกำจัดความเสี่ยงเท่าที่จะทำได้ เช่น ลดน้ำหนัก เลิกบุหรี่ จัดท่านอนให้เหมาะสมตามสรีระ ในรายที่มีปัญหาโรคภูมิแพ้จมูกควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและควบคุมอาการให้ได้ หากยังมีการหยุดหายใจคงอยู่ก็จะพิจารณาการรักษาในลำดับถัดไป ประกอบด้วย

  • การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Continuous positive airways pressure; CPAP) ในผู้ที่มีอาการระดับปานกลางถึงรุนแรง จำเป็นตะต้องสวมหน้ากากที่เชื่อมต่อกับเครื่อง CPAP เพื่อให้ความดันอากาศสูงกว่าปกติ เป็นการบังคับให้ทางเดินหายใจเปิดรับอากาศ ป้องกันการหยุดหายใจและการกรน

ภาพตัวอย่างเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP)
ที่มา: https://www.drugs.com/cg/cpap.html

  • การรักษาด้วยทันตอุปกรณ์ (Oral Appliance) เป็นการสวมเครื่องมือทางทันตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อเปิดช่องคอให้กว้างขึ้น โดยการดึงให้กรามยื่นไปข้างหน้ามากขึ้น ทั้งนี้อุปกรณ์ดังกล่าวมีหลายรูปแบบ โดยทันตแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

ภาพตัวอย่างทันตอุปกรณ์สำหรับรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ที่มา: https://www.coresleepsolutions.com/the-herbst-appliance/

  • การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดทางเดินหายใจ มักเป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อทำการรักษาอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล โดยทั่วไปจะต้องรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน และมักพิจารณาผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยมีลักษณะของฟันกรามที่ผิดรูป
เอกสารอ้างอิง
  1. Mayo Foundation for Medical Education and Research (MFMER). Sleep Apnea – Symptoms and Causes. 2023 April 06 [cited 2023 Aug 18]. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sleep-apnea/symptoms-causes/syc-20377631
  2. Mayo Foundation for Medical Education and Research (MFMER). Sleep Apnea – Diagnosis and Treatment. 2023 April 06 [cited 2023 Aug 18]. Available from:
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sleep-apnea/diagnosis-treatment/drc-20377636