Skip to content

โรคข้อเสื่อม(osteoarthritis) เป็นโรคข้อเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด และเป็นสาเหตุของอาการปวดเข่าที่พบได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันมักเป็นโรคที่โดนละเลย ไม่ให้ความสำคัญในการดูแลรักษา เนื่องจากคิดว่าเป็นโรคที่เสื่อมได้ตามวัย ทำให้การรักษาล่าช้า หรือ นำไปสู่การรักษาที่ไม่ถูกวิธี

โรคนี้เกิดขึ้นเนื่องจากกระดูกอ่อนที่อยู่ที่ปลายของกระดูก หรือ กระดูกอ่อนผิวข้อ(articular cartilage) มีการเสื่อม โดยพบการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อซึ่งเกิดขึ้นอย่างช้าๆอย่างต่อเนื่องตามเวลาที่ผ่านไป การเสื่อมของกระดูกอ่อนทำให้มีการแตกกร่อนของกระดูกอ่อน มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำไขข้อทำให้คุณสมบัติการหล่อลื่นลดลง ซึ่งนำไปสู่อาการฝืดข้อและเจ็บข้อได้ โรคนี้ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ นอกจากนี้อาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ความอ้วน อุบัติเหตุที่บริเวณข้อ กล้ามเนื้อรอบข้ออ่อนแรง เส้นประสาทรอบข้อเสียความสามารถในการรับความรู้สึก การอักเสบของเนื้อเยื่อหุ้มข้อ และส่วนน้อยเป็นผลจากพันธุกรรม

โรคข้อเสื่อมพบได้ที่หลายๆข้อ โดยส่วนใหญ่มักเป็นกับข้อที่คอยรับน้ำหนักหรือข้อที่ต้องใช้งานมาก ข้อเหล่านี้ ได้แก่ ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อของกระดูกสันหลังบริเวณหลังและลำคอ ข้อเล็กๆ ของนิ้วมือและข้อของนิ้วหัวแม่เท้า มักพบน้อยในข้อมือ ข้อศอก หรือข้อเท้า ยกเว้นแต่ว่าจะเกิดขึ้นหลังเกิดอุบัติเหตุ การติดเชื้อ หรือการใช้งานมากๆที่ข้อดังกล่าว

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่ทำการรักษาได้ถึงแม้ว่าจะไม่หายขาด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นด้วยการรักษา การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง และการพบแพทย์เป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่การประสบความสำเร็จในการรักษา

มีอะไรเกิดขึ้นในโรคข้อเสื่อม

โดยปกติแล้วที่บริเวณปลายของกระดูกที่เป็นส่วนประกอบของข้อจะมี กระดูกอ่อน(cartilage) ซึ่งทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำหรือกันชน ช่วยลดการเสียดสีของกระดูกในขณะเคลื่อนไหวของข้อ ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อมจะพบว่ากระดูกอ่อนนี้เสื่อมและผุกร่อน และมีปริมาณน้ำเลี้ยงข้อลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บปวดและบวมของข้อ

การผุกร่อนของกระดูกอ่อนเป็นไปตามลำดับ ดังนี้

โครงสร้างของกระดูกอ่อนเปลี่ยนแปลงไปเมื่ออายุมากขึ้น กระดูกอ่อนจะเริ่มสูญเสียความยืดหยุ่น ทำให้หน้าที่ในการลดการเสียดทานของข้อลดลง ทำให้ข้อเกิดการผุกร่อนและทำลายได้มากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหว การเสื่อมของกระดูกอ่อนขึ้นอยู่หลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม การใช้งาน อุบัติเหตุ ความอ้วน เป็นต้น

ผลของการเกิดกระดูกอ่อนเสื่อมทำให้เยื่อหุ้มรอบๆ ข้อเกิดการอักเสบ ให้มีการสร้างสารคัดหลั่งจากเม็ดเลือดขาวที่กระตุ้นการอักเสบและการผุกร่อนของกระดูกอ่อนมากขึ้น

เมื่อมีการผุกร่อนของกระดูกอ่อนมากขึ้น ทำให้บริเวณปลายของกระดูกที่เป็นส่วนประกอบของข้อเกิดการขัดสีและรับน้ำหนักมากขึ้นในขณะเคลื่อนไหวข้อ ทำให้ลักษณะโครงสร้างของกระดูกเปลี่ยนไป ปลายกระดูกจะหนาขึ้น บานออก และมีการสร้างปุ่มกระดูกที่ขอบๆ เรียกว่า osteophytes หรือ spurs หรือกระดูกงอก

ถ้ายิ่งเป็นมากขึ้น การอักเสบในข้อจะมากขึ้น ข้อมีการสะสมน้ำมากขึ้นและดันเข้าไปในกระดูก ทำให้เกิดซีสต์ (cyst) หรือถุงน้ำในกระดูก กระดูกอ่อนหรือ/และกระดูกเองที่เสื่อมอาจหลุดออกมาอยู่ในข้อ เรียก loose body ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการอักเสบมากขึ้นหรือขัดขวางการทำงานของข้อได้

นอกจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนแล้ว น้ำหล่อเลี้ยง (synovial fluid) อาจมีผลต่อการเกิดพยาธิสภาพของโรคด้วย น้ำหล่อเลี้ยงข้อทำหน้าที่เหมือนน้ำหล่อลื่นของข้อ ทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้ราบเรียบ ส่วนประกอบสำคัญของน้ำหล่อเลี้ยงข้อคือ สารไฮยาลูโรแนน (hyaluronan) พบว่าในข้อกระดูกอ่อนเสื่อม น้ำหล่อลื่นมีปริมาณ hyaluronan มากขึ้นแต่เจือจาง คุณสมบัติของ hyaluronan ที่เปลี่ยนไปนี้ทำให้ประสิทธิภาพในการหล่อลื่นข้อในขณะเคลื่อนไหวข้อลดลง

อาการทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม

  • อาการปวด มีลักษณะปวดตื้อๆ ทั่วๆไป บริเวณข้อ ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน อาการ ปวดมักเป็นเรื้อรังและมากขึ้นเมื่อใช้งาน หรือลง น้ำหนักบนข้อนั้นๆ อาการจะทุเลาลงเมื่อพักการใช้งาน หากการดำเนินโรครุนแรงขึ้นอาจทำให้ปวดตลอดเวลา แม้กลางคืนหรือขณะพัก บางรายมีอาการตึงบริเวณ พับเข่า
  • ข้อฝืด(stiffness) พบได้บ่อย มักเป็นตอนเช้า(morning stiffness) แต่มักไม่เกิน 30 นาทีอาการฝืดอาจเกิดขึ้นชั่วคราว ในช่วงแรกของการเคลื่อนไหวหลังจากพักเป็นเวลานาน เรียกว่า ปรากฏการณ์ข้อหนืด (gelling phenomnon)
  • ข้อบวมและผิดรูป (swelling and deformity) อาจพบขาโก่ง (bow legs) หรือเข่าฉิ่ง (knockknee) ข้อที่บวมเป็นการบวมจากกระดูกงอกโปน บริเวณข้อ
  • สูญเสีย การเคลื่อนไหวและการทำงาน ผู้ป่วยมีอาการเดินไม่สะดวก
  • มีเสียงดังกรอบแกรบ (crepitus) ในข้อเข่าขณะเคลื่อนไหว

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ใช้ยา

ลดน้ำหนัก

ทุกๆ น้ำหนักตัวที่ลดลง 1 กิโลกรัม จะไปลดน้ำหนักที่กดทับลงบนข้อเข่า 4 กิโลกรัมในเเต่ละก้าวที่เราก้าวเดิน หรือลดลง 3,000 กิโลกรัมต่อการเดินไกล 1 กิโลเมตร ในเเต่ละวันคนเราอาจจะเดินถึงวันละ 1.5 กิโลเมตรนั่นก็หมายความว่าจะมีการลดเเรงกระเเทกที่หัวเข่าอย่างมากมายมหาศาลในคนที่สามารถลดน้ำหนัดลงเเค่เพียง 1 กิโลกรัม มีการวิจัยเเเละพบว่า สำหรับผู้หญิงที่มีความสูงตามปกติทั่วไปเมื่อน้ำหนักลดลงประมาณ5 กิโลกรัม ความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจะหายไปมากว่า 50%

กายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด
  • เพิ่มความแข็งแรง ความทนทานและความ ยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรอบข้อ
  • เพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ และ ป้องกันการติดของข้อ
  • เพิ่มความมั่นคงของข้อ
  • ใช้เครื่องช่วยพยุงข้อ รู้จักวิธีการใช้ข้อที่ถูกต้อง ฝึกเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อสร้าง ความแข็งแกร่ง และออกกำลังกายเพื่อรักษาพิสัยการเคลื่อนไหว ข้ออย่างสม่ำเสมอ
ออกกำลังกาย (Therapeutic exercise)

คนที่มีอาการของข้อเสื่อมและอักเสบจะได้รับคำแนะนำให้พักมาก ๆ ลดกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ให้น้อยลง ซึ่งจะยิ่งทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวน้อย ขาดความยืดหยุ่น เกิดการยึดติดของข้อต่อและมีอาการปวดมากขึ้น กล้ามเนื้อก็แข็งแรงทนทานลดลง ในบางคนกล้ามเนื้อบริเวณนั้นถึงกับฝ่อลีบและไม่มีแรงไปเลย รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของระบบหัวใจและปอดก็จะลดลง ทำให้เหนื่อยง่าย กังวลและเครียดตามมา แต่ในปัจจุบันจากการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอที่ความหนักตั้งแต่ระดับต่ำ (Low – Intensity) ไปจนถึงระดับปานกลาง (Moderate – Intensity) จะช่วยให้อาการต่าง ๆ ของคนที่เป็นโรคข้ออักเสบดีขึ้น รวมถึงได้ความมั่นใจคืนกลับมามากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดและป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่อพยาธิสภาพของโรคที่จะตามมาด้วย