Skip to content

หมู่นี้ใคร ๆ ก็มาถามหาวิตามินดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้ยินมาว่าวิตามินดีช่วยป้องกันโรคโควิด 19 แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทราบว่าต้องทานแบบไหน ทานปริมาณเท่าไหร่ ทุกคนสามารถทานได้อย่างปลอดภัยหรือเปล่า วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจทั้งหมดกันค่ะ

ก่อนอื่นขอเล่าให้ฟังเกี่ยวกับหน้าที่ของวิตามินดีโดยทั่วๆ ไปก่อนแล้วกันนะคะ วิตามินดี หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ 1,25-dihydroxyvitamin D หรืออีกชื่อที่คุ้นหูมากกว่าคือ Calcitriol หากพูดถึงชื่อนี้จะหมายถึงวิตามินดีในรูป Active form หมายถึงรูปแบบที่ร่างกายนำไปใช้ทำงานโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติม วิตามินดีจัดเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปถึงบทบาทของวิตามินดีที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการเสริมสร้างมวลกระดูกและฟัน โดยวิตามินดีจะเป็นตัวช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากอาหารที่เรารับประทานเข้าสู่ร่างกายได้ดียิ่งขึ้น และเป็นตัวควบคุมสมดุลแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือดอีกด้วย นอกจากนี้วิตามินดียังทำหน้าที่อื่น ๆ ในร่างกายได้อีกด้วย เช่น เป็นตัวกระตุ้นการสร้างฮอร์โมน Serotonin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ทำให้มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคซึมเศร้าและลดความวิตกกังวลได้ นอกจากนี้วิตามินดียังช่วยลดอาการปวดศีรษะไมเกรนและลดความดันโลหิตได้เนื่องจากทำให้หลอดเลือดมีการหดและคลายตัวได้อย่างเป็นปกติ

สำหรับวิตามินดีในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีขายในท้องตลาดจะปรากฏให้เห็นใน 2 รูปแบบ ได้แก่ วิตามิน D2 หรือ Ergocalciferol เป็น form ที่ผลิตได้จากแหล่งอาหารที่เป็นพืชและเห็ด รา ยีสต์ และวิตามิน D3 หรือ Cholecalciferol เป็น form ที่ผลิตได้จากแหล่งอาหารที่ได้จากสัตว์ เช่น น้ำมันตับปลา ไข่แดง ซึ่งแม้ว่าจะมีแหล่งที่มาที่แตกต่างกัน แต่วิตามินดีทั้งสองรูปแบบนี้จัดเป็น Inactive form  คือจะต้องถูกแปรรูปที่ตับเป็น Calcidiol ซึ่งจะพบได้ในกระแสเลือดและปรับเปลี่ยนอีกครั้งที่ไตเพื่อให้ได้เป็น Calcitriol ซึ่งเป็น Active form ตามลำดับ

นอกจากนี้ ตอนเด็ก ๆ เราคงจะเคยได้ยินกันมาว่าควรออกไปรับแสงแดดอ่อน ๆ เพื่อจะได้รับวิตามินดี ข้อเท็จจริงก็คือผิวหนังของคนเราจะมีสาร 7-dehydrocholesterol อยู่ เมื่อสารตัวนี้เจอกับแสง UVB ทั้งจากดวงอาทิตย์ก็ดี หรือเป็นลำแสงที่ได้จากเครื่องมือก็ดี จะทำให้สารดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปเป็นวิตามิน D3 นั่นเอง ดังนั้นการรับแสงแดดเพื่อช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีมากขึ้นก็เป็นเรื่องจริงค่ะ แต่ต้องพึงระวังเนื่องจากแสงแดดมีทั้ง UVA และ UVB หากได้รับมากเกินไปก็เป็นอันตรายต่อผิวได้ค่ะ ทำให้ผิวไหม้หรือเกิดอาการระคายเคืองได้ นอกจากนี้ยังทำลายชั้นผิวคอลลาเจนและอีลาสติน ทำให้ผิวพรรณเหี่ยวย่นได้อีกด้วย การรับประทานวิตามินดีในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะสามารถตอบโจทย์มากกว่าค่ะ

มาถึงหัวข้อที่หลาย ๆ คนให้ความสำคัญในขณะนี้ค่ะ วิตามินดีมีผลช่วยลดการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้หรือไม่ และส่งผลอย่างไรต่อภูมิคุ้มกัน … วิตามินดีมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคเรื้อรังต่าง ๆ เนื่องจากมีความสามารถในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยวิตามินดีจะเหนี่ยวนำให้เม็ดเลือดขาวผลิตเปปไทด์ที่มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อจุลชีพ และสาร cathelicidins และ defensins มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ขนาดของวิตามินดีที่แนะนำให้รับประทานสำหรับกระตุ้นภูมิคุ้มกันคือ 5000-8000 iu ต่อวัน ซึ่งเป็นขนาดสูงกว่าที่ร่างกายต้องการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับ Calcidiol ในเลือดของแต่ละบุคคล[1] ทั้งนี้พบว่าในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดสูง มีโอกาสเกิดอาการไข้หวัดและการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้น้อยกว่า รวมถึงเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนที่มีระดับ Calcidiol ต่ำกว่าอีกด้วย[2]

สำหรับข้อควรระวังที่สำคัญของวิตามินดี คือหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปจะเป็นพิษต่อร่างกายได้ โดยปกติร่ายกายต้องการวิตามินดีเพียงวันละ 200-400 IU ในผู้ใหญ่ และ 400-600 IU ในผู้สูงอายุเท่านั้น หากรับประทานวิตามินดีในขนาดสูงคือ 1,000-2,000 IU ติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน อาจทำให้มีอาการผิดปกติต่าง ๆ ได้เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ ไม่เจริญอาหาร ใจสั่น และในระยะยาวอาจรบกวนสมดุลแคลเซียมในร่างกายทำให้กระดูกและกล้ามเนื้ออ่อนแอลงได้ด้วย จึงแนะนำสำหรับคนทั่วไปว่าการรับประทานวิตามินขนาดสูงควรรับประทานในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อ Boost ระบบภูมิคุ้มกันอย่างเร่งด่วน

เคล็ดลับเพิ่มเติมในการรับประทานวิตามินดีให้ได้ประโยชน์สูงสุดคือ รับประทานพร้อมกับแคลเซียมในคนที่ต้องการบำรุงกระดูกหรือมีภาวะขาดแคลเซียม หรือมีภาวะกระดูกพรุนร่วมด้วย นอกจากนี้ควรระมัดระวังการรับประทานวิตามินดีเสริมในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากวิตามินดีมีผลต่อระบบสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัสได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนที่จะรับประทานอาหารเสริมหรือสมุนไพรเพื่อความปลอดภัยค่ะ

เอกสารอ้างอิง

  1. Life extension. Disease prevention and treatment: 130 evidence-based protocols to combat the diseases of aging. 5th ed. 2013:787-793.
  2. Chareonngam N, Shirvani A, Holick MF. Vitamin D and Its Potential Benefit for the COVID-19 Pandemic. Endocr Pract. 2021.27:484-493.