Skip to content

ล้วงความลับของน้ำมันจมูกข้าว

น้ำมันจมูกข้าว (Rice germ oil) คืออะไร

จมูกข้าว คือส่วนปลายเมล็ดข้าวค่อนไปด้านข้าง หรือที่เรียกว่า Germ เป็นส่วนที่มีสารอาหารสำคัญที่จำเป็นสำหรับต้นอ่อนที่เตรียมจะเป็นต้นข้าวใหม่ จมูกข้าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของข้าวที่มีสารอาหารครบถ้วน แต่มักจะหลุดออกจากเมล็ดเมื่อเข้าสู่กระบวนการขัดสี

น้ำมันจมูกข้าว เป็นน้ำมันที่ได้จากกระบวนการพิเศษในการสกัดเอาสารสำคัญที่มีประโยชน์นานาชนิดซึ่งมีอยู่ในเยื่อหุ้มเมล็ดข้าว (Seed Membrane layer) จึงอุดมด้วยสารสำคัญทางธรรมชาติมากมายที่มีคุณค่าสูงต่อร่างกาย

สารสำคัญในน้ำมันจมูกข้าว

  • สารแกมมา โอไรซานอล (Gamma Oryzanol) สารสำคัญที่มีจุดเด่นในการช่วยลดอัตราเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ฟอสโฟไลปิด (Phospholipid) เช่น เลซิติน (Lecithin) เซฟฟาลิน (Cephalin) ไลโซเลซิติน (Lysolecithin)
  • โทคอล (Tocols) ประกอบด้วยวิตามินอีธรรมชาติ ในรูปของโทโคเฟอรอล (Tocopherol) และโทโคไทรอินอล (Tocotrienol) ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
  • เซราไมด์ (Ceramide) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของชั้นใต้ผิวหนัง ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว
  • กรดไขมันจำเป็น (Essential Fatty Acid) ได้แก่ Linolenic acid (omega-3), Linoleic acid (omega-6)
  • สารอาหารต่าง ๆ ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินบีรวม แคโรทีนอยด์ เมลาโทนิน และแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แคลเซียม เหล็ก เซเลเนียม สังกะสีแมงกานีส โครเมียม และโปรตีน

ทำความรู้จักกับ Gamma Oryzanol

แกมมา โอรีซานอล (gamma oryzanol) เป็นสารกลุ่มไฟโตสเตอรอลที่พบในข้าว  เป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ โดยพบในจมูกข้าวถึง 1-1.5% จมูกข้าวจึงเป็นแหล่งสำคัญที่ให้ปริมาณ gamma Oryzanol สูง ประโยชน์ของ gamma oryzanol มีมากมายดังต่อไปนี้

ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

คอเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสังเคราะห์ได้เองจากตับและลำไส้ พบมากในไขมันจากสัตว์ คอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย แต่หากมีมากเกินไปก็ส่งผลเสียได้ โดยคอเลสเตอรอลที่สำคัญ มีอยู่ 2 ชนิด คือ

  • Hight density lipoprotein – HDL ไขมันชนิดดี ช่วยนำคอเลสเตอรอลไปใช้ ลดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ
  • Low density lipoprotein-LDL ไขมันชนิดไม่ดี หากมีในปริมาณสูงจะไปจับตัวพอกพูนสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบหรืออุดตันได้

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันชนิดหนึ่ง เกิดจากน้ำตาลและแป้ง ร่างกายจะเก็บสะสมไตรกลีเซอร์ไรด์ไว้เป็นพลังงาน แต่หากมีไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดตีบหรืออุดตันได้

ชนิดของไขมันในเลือดระดับปกติเริ่มอันตรายอันตราย
คอเรสเตอรอลรวมน้อยกว่า 200 mg/dLมากกว่า 200 mg/dLมากกว่า 240 mg/dL
ไขมันชนิดไม่ดี (LDL)น้อยกว่า 130 mg/dLมากกว่า 130 mg/dLมากกว่า 160 mg/dL
ไขมันชนิดดี (HDL)มากกว่า 45 mg/dLน้อยกว่า 45 mg/dLน้อยกว่า 35 mg/dL
ไตรกลีเซอร์ไรด์น้อยกว่า 150 mg/dLมากกว่า 150 mg/dLมากกว่า 200 mg/dL
ตารางแสดงระดับไขมันในเลือดที่เหมาะสม
Gamma oryzanol ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดโดย
  • ยับยั้งการสร้างคอเลสเตอรอล (ยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์คอเรสเตอรอล)
  • เพิ่มการเผาผลาญคอเลสเตอรอล
  • ลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลในลำไส้
  • เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL)
  • ลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในหลอดเลือด

มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า gamma oryzanol สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลได้ โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยชาวไทยที่มีระดับคอเรสเตอรอลในเลือดสูง 54 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับ gamma-oryzanol ขนาดสูง 20,000 ppm (เทียบเท่ากับ 300 mg) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ gamma-oryzanol ขนาดต่ำ 5,000 ppm (เทียบเท่ากับ 75 mg) ทุกวันเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า

  • กลุ่มที่ได้รับ gamma oryzanol 300 mg ต่อวัน ที่สัปดาห์ที่ 8 ระดับคอเรสเตอรอลรวมและไขมัน LDL ลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
  • กลุ่มที่ได้รับ gamma oryzanol 75 mg ต่อวัน ที่สัปดาห์ที่ 8 ระดับไขมัน HDL เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลรวมและไขมัน LDL
  • จากการศึกษาผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มไม่พบการเกิดพิษต่อตับและไต

ฤทธิ์ในการต้านอักเสบ

gamma oryzanol มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (free radical scavenging properties) โดยตัวมันทำหน้าที่ทั้งกำจัดอนุมูลอิสระ และยังยับยั้งกระบวนการส่งสัญญานการสร้างสารก่ออักเสบในร่างกาย (inhibit NF-kB pathways) นอกจากนี้วิตามินอีที่อยู่ในน้ำมันจมูกข้าวยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้เช่นกัน จึงมีการนำ gamma oryzanol มาใช้ประโยชน์ในโรคที่มีการอักเสบมาเกี่ยวข้อง เช่น โรคกระเพาะอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

gamma oryzanol ถูกนำมาใช้ในการรักษาปัญหาโรคแผลในกระเพาะอาหาร โดยการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทควบคุมการหลั่งกรด จากเดิมที่เคยหลั่งกรดออกมามากก็ทำให้การหลั่งกรดน้อยลงในระบบย่อยอาหารปกติ มีการศึกษาให้ gamma oryzanol 300 mg เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง พบว่าการหลั่งฮอร์โมน gastrin (ฮอร์โมนที่ควบคุมการหลั่งกรด) ลดลง และยังช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการแน่นหรืออึดอัดท้องหลังมื้ออาหาร (post-prandial fullness) และอาการไม่สบายท้องส่วนบน (discomfort in the upper abdomen) ลงได้ถึง 75% อีกด้วย

ปรับสมดุลของระบบฮอร์โมนในสตรีวัยทอง

วัยทอง (Menopause) หรือวัยหมดประจำเดือน คือสภาวะเปลี่ยนแปลงของผู้หญิงทางร่างกายและจิตใจ เนื่องมาจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง ผู้ที่เข้าสู่วัยทองจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 45- 55 ปี ผู้หญิงวัยทองบางคนอาจมีอาการที่สัมพันธ์กับภาวะหมดประจำเดือน ในบางคนอาจมีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวันได้ ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก นอนไม่หลับ หงุดหงิด อ่อนเพลีย ซึมเศร้า ปวดศีรษะ เป็นต้น

มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การรับประทานอาหารเสริมที่มี gamma oryzanol สามารถช่วยลดอาการที่สัมพันธ์กับภาวะหมดประจำเดือนได้ โดยทำการศึกษาในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 63 ราย ให้รับประทาน gamma oryzanol 300 mg ต่อวัน แล้วติดตามอาการเป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ พบว่า gamma oryzanol ช่วยลดอาการต่าง ๆ ลงได้ ตามตารางด้านล่าง

น้ำมันจมูกข้าวเหมือนกัน…ได้สารสำคัญเท่ากันจริงหรือ?

ตามงานวิจัยพบว่ามีการใช้ gamma oryzanol ในช่วง 75-300 mg ซึ่งผลิตภัณฑ์น้ำมันจมูกข้าวในปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลาย น้ำมันจมูกข้าวนอกจากจะมีสารสำคัญคือ gamma oryzanol แล้ว ยังประกอบไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวโดยเฉพาะ omega-3 และ omega-6 ซึ่งหากมีสัดส่วนของกรดไขมัน omega-6 ที่มากเกินไป สามารถก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกายได้ เนื่องจากเมื่อ omega-6 เข้าสู่ร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อการอักเสบ (pro-inflammatory) ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบและมีฤทธิ์ทำให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่มกันมากขึ้น หากได้รับในปริมาณมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดตีบหรืออุดตัน อันเป็นสาเหตุของโรคร้ายหลายชนิดตามมาได้

ที่มา: BMJ 2004;328:30

ดังนั้นสิ่งสำคัญในการเลือกผลิตภัณฑ์น้ำมันจมูกข้าว คือ ควรมีสัดส่วนของ gamma oryzanol สูง มีปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัว (omega-6) ต่ำ โดยปริมาณ gamma oryzanol ต้องสูงเพียงพอให้ได้ตามงานวิจัย คือ 75-300 mg ต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ต้องการลดคอเรสเตอรอลและสตรีวัยทองควรรับประทาน gamma oryzanol 300 mg ต่อวันต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์

เลือกผลิตภัณฑ์น้ำมันจมูกข้าวอย่างไร

ปัญหาของน้ำมันจมูกข้าว คือ ไขมันสามารถเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นจากเอนไซม์ลิพ็อกซีจีเนส (lipoxygenase) ได้ง่าย ทำให้รส สี และกลิ่นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาจส่งผลให้สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการ หรืออาจเกิดสารประกอบใหม่ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารที่ได้จากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น คือ Malondialdehyde (MDA) ซึ่งสามารถทำลายโครงสร้างของสารพันธุกรรมของมนุษย์ เป็นสาเหตุของความผิดปกติทางพันธุกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมามากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง เป็นต้น

ดังนั้นจึงควรเลือกผลิตภัณฑ์น้ำมันจมูกข้าวที่อยู่ในแคปซูลที่มีคุณสมบัติป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้ ในปัจจุบันมี Licaps® Fusion Technology ซึ่งเป็นนวัตกรรมแคปซูลปกป้องสารอาหารจากออกซิเดชั่น แตกตัวและปลดปล่อยสารสำคัญได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งดีกว่าการใช้ soft gelatin capsule ที่ยังมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้

รูปเปรียบเทียบแคปซูลแบบ Licaps® capsule และ soft gelatin capsule

เอกสารอ้างอิง

  1. ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น. ข้าวและการนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ [อินเทอร์เน็ต]. นนทบุรี: ระบบจัดการองค์ความรู้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์; 2566 [เข้าถึงเมื่อ 20 พ.ย. 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://kmis.dmsc.moph.go.th/news/111/detail/2571
  2. Phunikhom K, Sattayasai J, Tiamkao S, Gaysonsiri D. A Randomized, Double Blind Clinical Study to Assess the Effects of a Gamma-oryzanol-enriched Rice Bran Oil on Lipid Profile in the Hypercholesterolemic Patients. J Med Assoc Thai 2021;104 (Suppl.1): S64-9.
  3. T. Arai. Effect of a few drugs on clinical evaluations and serum gastrin levels. Kitakanto medical journal 1980; 30: 71-84
  4. โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์.  เช็คอาการเข้าข่าย “วัยทอง” หรือยัง? [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 20 พ.ย. 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/menopause#:~:text=อาการที่สัมพันธ์กับวัยหมดระดู%20ได้แก่%20ร้อน,หมดระดูใน%202
  5. Ishihara M. Effect of γ‐Oryzanol on Serum Lipid Peroxide Level and Clinical Symptoms of Patients with Climacteric Disturbances. Asia‐Oceania Journal of Obstetrics and Gynaecology. 1984 Sep;10(3):317-23.
  6. จตุรงค์ จงเจริญ. การพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ปริมาณมาลอนไดอัลดีไฮด์และไฮดอกซีเมทิลเฟอร์ฟิวรัลดิไฮด์พร้อมกันในตัวอย่างน้ำนมพร้อมดื่มด้วยเทคนิคโครมาโทรกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง. ปริญญานิพนธ์ [อินเทอร์เน็ต]. 2555 [เข้าถึงเมื่อ 20 พ.ย. 2567]. เข้าถึงได้จาก: http://thesis.swu.ac.th/swuthesis/Chem(M.S.)/Jaturong_C.pdf
  7. ปฏิวิทย์ ลอยพิมาย. รําขาว: การคงสภาพรําข้าว (Rice Bran: Rice Bran Stabilization). ก้าวทันโลกวิทยาศาสตร์ 2553; 2: 78-83.
  8. ทิพวรรณ ยืนยงค์. ความคงตัวของแกมมาโอรีซานอลในน้ำมันรำข้าวที่อุณหภูมิสูง. วิทยานิพนธ์ [อินเทอร์เน็ต]. 2551 [เข้าถึงเมื่อ 20 พ.ย. 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://sure.su.ac.th/xmlui/bitstream/id/3c17c082-858f-41ff-b74b-bb9ff7095bc8/Fulltext.pdf?attempt=2
  9. ศิริรัตน์ ธำรงธีระกุล และ พรเทพ เทียนสิวากุล. ความรู้ของพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับน้ำมันพืชและผลต่อการอักเสบภายในร่างกายอันเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรัง [อินเทอร์เน็ต]. 2558 [เข้าถึงเมื่อ 20 พ.ย. 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://grad.dpu.ac.th/upload/content/files/ปี่ที่%204%20ฉบับที่%203%20เดือน%20เมษายน%20-%20กรกฎาคม%202559/vol4-3-90.pdf