Skip to content

ไขมันในเลือดสูง ต้องกินยาไปตลอดชีวิตมั้ย ? ตับจะพังก่อนหรือเปล่า

ไขมันในเลือดสูงต้องกินยาไปตลอดชีวิตไหม ตับจะพังก่อนหรือเปล่า? หมอบอกไขมันในเลือดสูง จะกินยาก็กลัวตับจะพัง แค่คุมอาหารได้หรือเปล่า ไม่อยากกินยาไปตลอดชีวิต

ไขมันในเลือดสูงคือ ภาวะที่ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ ซึ่งสูงกว่าระดับปกติที่ควรจะเป็น ปัจจัยกระตุ้นมาจากหลายๆอย่าง เช่น การรับประทานอาหาร, ความเครียด, กรรมพันธุ์, การสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์  ส่งผลให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อหลายๆโรค เช่น ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง, ให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่พบบ่อยคือ โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้หรือเป็นบุคคลทุพพลภาพ ฟังแล้ว ดูน่ากลัวใช่ไหม? แล้วถ้าไม่อยากเกิดภาวะแบบนี้ต้องทำอย่างไรบ้างล่ะ? เรามาอ่านบทความนี้ไปพร้อมๆกัน

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักประเภทของไขมันในร่างกายกันก่อน ไขมันในเลือดมีหลายชนิด ที่รู้จักกันดีจะมี โคเลสเตอรอล (cholesterol) และไตรกลีเซอร์ไรด์ (triglyceride) นอกจากนี้ โคเลสเตอรอลยังแบ่งออกเป็น เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล (HDL cholesterol) หรือไขมันดีและ แอล ดี แอล โคเลสเตอรรอล (LDL cholesterol) ซึ่งไขมันชนิดที่ไม่ดีก็ให้เกิดโรคต่างๆ ที่กล่าวมา เพราะฉะนั้นเวลาเราไปตรวจค่าไขมัน ผลจะออกมาเป็น 3 ค่า ดังนี้
  1. ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) เป็นไขมันซึ่งเกิดจากทั้งการสังเคราะห์ในร่างกายของเรา และรับจากการรับประทานอาหาร แต่ถ้าสะสมมากเกินไปจะเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง โดยปกติไม่ควรเกิน 150 mg/dl ไขมันชนิดนี้สามารถควบคุมได้โดยการปรับพฤติกรรม เช่น ควบคุมอาหาร, ลดของหวาน, ลดอาหารประเภทแป้งและแอลกอฮอล์ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
  2. เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล (HDL cholesterol, High Density Lipoprotein : HDL) คือ ไขมันที่มีความหนาแน่นสูง เป็นไขมันที่ดีต่อหลอดเลือด ช่วยป้องกันไม่ให้ไขมันที่ไม่ดีไปพอกสะสมในหลอดเลือดแดง ค่าปกติไม่ควรต่ำกว่า 40 mg/dl เราสามารถเพิ่ม HDL ได้หลายวิธี เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ, ควบคุมอาหารจำพวกไขมันทรานส์ที่มีส่วนประกอบของเนยเทียม ครีมเทียม มาการีน เป็นต้น, งดสูบบุหรี่, รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช  
  3. แอล ดี แอล โคเลสเตอรรอล (LDL cholesterol, Low Density Lipoprotein : LDL) คือ ไขมันที่มีความหนาแน่นต่ำ เป็นไขมันที่ไม่ดี ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง สาเหตุของโรคหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โดยปกติไม่ควรเกิน 130 mg/dl 

นอกจากนี้ยังมีค่าที่สำคัญอีกค่าหนึ่งคือ Total cholesterol หรือระดับโคเลสเตอรอลโดยรวม โดยปกติไม่ควรเกิน 200 mg/dl 

สำหรับระดับ LDL ในเลือด มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจาก LDL ทำหน้าที่เป็นตัวนำโคเลสเตอรอลทั้งหลายออกจากตับเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อเซลล์เลือกใช้โคเลสเตอรอลที่ต้องการไปแล้ว โคเลสเตอรอลที่เหลืออยู่ในกระแสเลือดจะเกาะเป็นก้อนตุ่มอยู่ที่ผนังของหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็ง ตีบ นานๆไปตุ่มเหล่านี้จะแตกออกทำให้มีลิ่มเลือดเข้ามาพอกจนอุดตันหลอดเลือด ผลที่ตามมาคืออวัยวะสำคัญที่ต้องอาศัยเลือดจากหลอดเลือดเช่นหัวใจ สมอง ไต เกิดขาดเลือดไปเลี้ยง กลายเป็นโรคเช่นหัวใจขาดเลือด อัมพาตอัมพฤกษ์ ความดันเลือดสูง ไตวาย เป็นต้น อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ LDL เป็นไขมันที่ไม่ดีก็คือการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของ LDL (Oxidation of LDL) ซึ่งเกิดขึ้นในร่างกายของเรา ทำให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างของตัว LDL และตัว Oxidized LDL นี้ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด หลอดเลือดแดงแข็งและกระบวนการอักเสบต่อเนื่องก่อให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในที่สุด

แต่ในทางกลับกันคอเลสเตอรอลก็ยังมีประโยชน์บางส่วนกับร่างกาย เช่น เป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์ ถ้าเรากลัวคอเลสเตอรอลและไปลดปริมาณของมันจนไม่เหลือเลย ก็จะส่งผลให้ผนังเซลล์ของเราไม่แข็งแรงและคอเลสเตอรอลยังเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญในการสร้างฮอร์โมนหลายชนิด ได้แก่ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนต้านความเครียด หากคอเลสเตอรอลของเราน้อยและฮอร์โมนไม่ถูกสร้าง ก็อาจทำให้เราไม่สามารถอดทนต่อความเครียดได้ อีกตัวหนึ่งคือฮอร์เพศหญิงและเพศชาย (Sex hormone) ก็ถูกสร้างมาจากคอเลสเตอรอลเช่นกัน ฮอร์โมนเพศชายจะทำหน้าที่ควบคุมความเป็นชาย ทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีและควบคุมระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย ส่วนฮอร์โมนหญิงช่วยสร้างความเป็นหญิงให้ผู้หญิงมีหน้าอกและมีสะโพกเท่านั้นและยังช่วยป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด ปกป้องกระดูกและกล้ามเนื้อ สังเกตง่ายๆ ได้จากผู้หญิงที่หมดประจำเดือน เพราะฉะนั้นเราจึงควรควบคุมให้มีแต่พอดีและเพียงพอต่อความจำเป็นของร่างกาย นอกจากนี้คอเลสเตอรอลยังมีส่วนร่วมในการบวนการสังเคราะห์วิตามินดี ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความแข็งแรงของกระดูกและฟัน

การสังเคราะห์คอเลสเตอรอลในร่างกายจะเกิดขึ้นที่ตับเป็นหลักและลำไส้บางส่วน โดยมีกระบวนการที่ซับซ้อนหลายขั้นตอนด้วยกัน โดยกระบวนการหลักๆจะเกี่ยวของกับ สารชื่อ HMG-Co A ซึ่งยาลดไขมันส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์ที่สารตัวนี้ ซึ่งการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลที่ตับมีผลกับระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายมากถึง 70-85%  ปัจจัยที่สำคัญสำหรับการเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกายมาจากอาหาร ซึ่งมีผลกับระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย 15-30% สำหรับแหล่งของไขมันชนิดจะมาจากอาหารชนิดต่างๆ ได้แก่ คอเลสเตอรอลซึ่งอยู่ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ของสัตว์ เช่น นม เนย

ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันหลักที่เรารับประทานจากอาหาร แบ่งเป็น ไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันจากสัตว์ ไขมันจากนม เนย ชีส และจากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิเป็นต้น

ไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งพบได้ในน้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันพืชทั่วไป เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา เป็นต้น ซึ่งไขมันอิ่มตัวจะส่งผลเสียและก่อโรคต่อร่างกาย แต่ไขมันอิ่มตัวบางตัวก็ส่งผลดีเมื่อทานในปริมาณที่พอเหมาะโดยเฉพาะไขมันที่มาจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว พบว่าสามารถกระตุ้นให้ร่างกายเพิ่มการสังเคราะห์ HDL มากขึ้นได้ ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในระยะยาว

ชนิดของไขมันอีกอย่างหนึ่งที่ควรระวังในการบริโภคก็คือ ไขมันทรานส์ (Trans Fat) ซึ่งเป็นกระแสอยู่ระยะหนึ่ง โดยเกิดจากการนำไขมันจากพืชหรือไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันพืช มาเติมไฮโดรเจนลงไปบางส่วน (Partially Hydrogenated Oil) เพื่อแปลงสภาพให้กลายเป็นของแข็งหรือกึ่งเหลว กลายเป็นไขมันอิ่มตัว อย่างเช่น เนยเทียม เนยขาว มาร์การีน ครีมเทียม สามารถเพิ่มระดับ LDL ในร่างกายได้มากกว่าไขมันตัวอื่น นอกจากนี้ยังลดระดับ HDL ด้วย จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้สูงขึ้น จึงควรเลี่ยงการบริโภคอาหารที่ประกอบด้วยไขมันชนิดนี้ พบในอาหารหลายประเภท เช่น

  • ขนมอบเบเกอรี่ เช่น โดนัท ขนมเค้ก พาย คุกกี้ เวเฟอร์ บราวนี่ พิซซ่า ครัวซองต์ แซนวิช ขนมเปี๊ยะ โรตี ป๊อปคอร์นที่ใช้เนยเทียมคั่ว
  • เครื่องดื่มสำเร็จรูปประเภทที่มีครีมเทียม วิปปิ้งครีม นมข้นหวาน นมข้นจืด ส่วนผสมเหล่านี้บางชนิดก็มีไขมันทรานส์
  • อาหารทอดซ้ำ เช่น ปาท่องโก๋ กล้วยแขก ไก่ทอด หมูทอด มันฝรั่งทอด

ปัจจุบันได้มีการรณรงค์เรื่องการลดบริโภคและการงดใช้ไขมันทรานส์ในการประกอบอาหาร โดยเราจะเห็นได้จากการเคลมและระบุในสินค้าอาหารต่างๆมากขึ้น

ปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายได้ก็คือความเครีย มีการศึกษาพบว่า เมื่อประสบกับภาวะเครียดมาก ในบางคนจะมีระดับ LDL และไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นอย่างมากแม้ในระยะเวลาสั้นๆ และในระยะยาวเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ประสบกับภาวะเครียดเล็กน้อย เนื่องจากความเครียดจะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตพลังงานเพิ่ม ส่งผลให้ตับเพิ่มการผลิต LDL ที่มากขึ้นไปด้วย อีกสาเหตุุหนึ่งคือความเครียดจะไปรบกวนการขจัดไขมันในร่างกาย โดยเพิ่มการอักเสบหลายจุดภายในร่างกาย และวิถีชีวิตที่ส่งผลให้เกิดความเครียดเรื้อรัง เช่น การขาดการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารจำพวกฟาสต์ฟู๊ดที่ไม่ดีต่อสุขภาพประกอบกับชีวิตที่เต็มไปด้วยความเครียดทั้งในเรื่องของการทำงาน, การใช้ชีวิตประจำวัน, การเดินทาง เป็นต้น นอกจากนี้ความเครียดยังกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน Cortisol และ Adrenaline ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างไตรกลีเซอไรด์และกรดไขมันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับ LDL ในร่างกายสูงขึ้น

การรักษาโดยใช้ยาลดไขมัน คุณหมอจะพิจารณาผู้ป่วยโดยใช้หลายปัจจัยร่วมกันก่อนเริ่มยา เริ่มต้นจากให้ผู้ป่วยลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหารและออกกำลังกาย ประมาณ 3-6 เดือนก่อนพิจารณาเริ่มยา ปัจจัยที่คุณหมอจะนำมาพิจารณา ได้แก่ อายุ, ระดับไขมันที่วัดได้ตอนเริ่มต้น, การทำแบบประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในคนไทย, ประวัติครอบครัวที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ, การสูบบุหรี่, ภาวะไตของผู้ป่วย, โรคร่วมเช่น เบาหวาน ความดัน รวมทั้งผู้ที่เคยมีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือดกำเริบ

ตัวยาที่นิยมใช้รักษาประกอบด้วย

  1. กลุ่ม Statin เป็นยากลุ่มแรกที่นิยมใช้รักษา สำหรับผู้ป่วยที่มีระดับ LDL สูง ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ที่พบคืออาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีหลายขนาด หลายความแรงและหลายยี่ห้อในปัจจุบัน ตัวยาใหม่เช่น Rosuvastatin, Atorvastatin จะออกฤทธิ์ลดไขมันได้ดีขึ้นและมีผลข้างเคียงน้อยลงกว่ายารุ่นแรกที่ชื่อว่า Simvastatin 
  2. กลุ่ม Fibrate นิยมใช้กับผู้ป่วยที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง รวมทั้งผู้ที่มีโรคร่วม เช่น เบาหวาน ไม่นิยมใช้คู่กับกลุ่ม Statin เพราะจะทำให้ผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นได้
  3. กลุ่ม Ezetimibe นิยมใช้คู่กับกลุ่ม Statin

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอื่น เช่น กลุ่ม Nicotinic acid, กลุ่มยับยั้งการทำงานของน้ำดีเพื่อไม่ให้ไขมันแตกตัวและถูกดูดซึมได้คือ Cholestyramine, กลุ่มยายับยั้งการย่อยของไขมัน เช่น Orilstat การใช้ยาต่างๆ ควรขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอเป็นหลักและการกำหนดเป้าหมายของระดับไขมันในร่างกาย ไม่ควรซื้อยาทานเองนะ 

อาหารเสริมสำหรับภาวะไขมันในเลือดสูง

  1. น้ำมันปลา  (Fish oil, Omega-3 Fatty acid) ซึ่งประกอบด้วยสารสำคัญ 2 ตัว คือ eicosapentaenoic acid (EPA) ซึ่งสำคัญต่ออวัยวะหลายส่วน โดยเฉพาะหัวใจและหลอดเลือดอีกตัวคือ docosahexaenoicacid (DHA) ซึ่งสำคัญต่อการบำรุงสมอง ออกฤทธิ์ในการลดระดับไขมันในเลือดด้วยการยับยั้งการทำงานผ่านเอนไซม์ HMG Co-A Reductase ซึ่งเป็นกลไกเดี่ยวกันกับการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่ม Statin สามารถลดภาวะการอักเสบที่เกิดขึ้นภายในร่างกายได้อีกด้วย จากผลการศึกษาพบว่าสามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ มีประโยชน์เมื่อใช้ในขนาด 1 g/day สามารถช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ นอกจากนี้สามารถใช้ลดไตรกลีเซอไรด์ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาในกลุ่ม Fibrate ได้ ในขนาดมากกว่า 2 g/day นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ซึ่งให้ Omega-3 มากกว่า Fish oil ในขนาดที่เท่ากันและดูดซึมเข้าร่างกายได้ดีกว่าคือ Krill oil ซึ่งสกัดจากตัวเคยมีลักษณะคล้ายกุ้งตัวเล็กๆ
  2. กระเทียม (Garlic) มีสารที่ชื่อว่า Allicin ออกฤทธิ์ในการลดระดับไขมันในเลือดด้วยการยับยั้งการทำงานผ่านเอนไซม์ HMG Co-A Reductase ซึ่งเป็นกลไกเดี่ยวกันกับการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่ม Statin จากการศึกษาพบว่าสามารถช่วยป้องกันการเปลี่ยนไขมัน LDL ให้กลายเป็น Oxidized LDL ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด หลอดเลือดแดงแข็งและกระบวนการอักเสบต่อเนื่องก่อให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในที่สุด ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากกระเทียมหลากหลายรูปแบบมาก อาทิเช่น รูปแบบเม็ดซึ่งประกอบด้วยสารสกัดจากน้ำมันกระเทียม รูปแบบผลกระเทียมดำซึ่งนำไปบ่มเพื่อให้เพิ่มคุณค่าของสารสกัดในกระเทียมให้มากขึ้นกว่ากระเทียมสดทั่วไป
  3. ขมิ้นชัน มีสารที่เรียกว่า Curcumin ออกฤทธิ์ในการลดระดับไขมันในเลือดด้วยการยับยั้งการทำงานผ่านเอนไซม์ HMG Co-A Reductase ซึ่งเป็นกลไกเดี่ยวกันกับการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่ม Statin จากการศึกษายังพบว่า ขมิ้นชันยังช่วยการป้องกันการเปลี่ยนไขมัน LDL ให้กลายเป็น Oxidized LDL ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด หลอดเลือดแดงแข็งและกระบวนการอักเสบต่อเนื่องก่อให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในที่สุด เหมือนกับกระเทียมเลย
  4. แอลคาร์นิทีน (L-Carnitine) เป็นสารที่ร่างกายนำไปใช้ในกระบวนการดึงไขมันเข้าไปสร้างเป็นพลังงาน จะออกฤทธิ์ได้ดีเมื่อออกกำลังกายร่วม จากการศึกษาเมื่อรับประทานแอลคาร์นิทีนวันละ 1-2 g พบว่าปริมาณของกล้ามเนื้อมากขึ้นและไขมันลดลง
  5. CLA (Conjugated Linoleic Acid) ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ LPL (Lipo-protein Lipase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้สำหรับการสร้างไขมันและเก็บสะสมไขมัน ช่วยเผาผลาญไขมันและกระชับสัดส่วน
  6. สารสกัดส้มแขก (Garcinia cambogia Extract) เป็นสารสกัดจากผลส้มแขกมีคุณสมบัติในการขัดขวางการเปลี่ยนแปลงสารอาหารจำพวกน้ำตาลกลูโคสเป็นสารอาหารจำพวกไขมัน สามารถยับยั้งเอนไซม์ ATP Citrate Lyase ลดการสะสมของไขมันจากอาหารที่ทานเข้าไปและช่วยดึงไขมันออกมาเผาผลาญ
  7. ไคโตซาน (Chitosan) ซึ่งเป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่สกัดจากเปลือกของกุ้ง กระดองปู มีประจุบวก สามารถดักจับกับไขมันที่เป็นประจุลบ ยับยั้งไขมันในอาหารที่เรารับประทานไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ลำไส้ ไขมันก็ถูกขับถ่ายออกมา ช่วยลดการสะสมไขมันในร่างกาย ควรทานก่อนอาหาร 15-30นาที 
  8. สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ มีหลายชนิดด้วยกัน สามารถทานร่วมกับวิตามินซี มีหลายชนิดเช่น grape seed, astaxantin, pycnogenol จากการยกตัวอย่างนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่มีขายตามท้องตลาด เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการเกิด Oxidized LDL ในร่างกายได้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสำหรับผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง

  1. ควรลดอาหารจำพวกขนมหวานทุกชนิด ผลไม้รสหวานจัดและผลไม้แปรรูป น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ของทอดต่างๆ แกงกะทิ อาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ เช่น เนย หรือมาการีน อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวหรือคอเลสเตอรอล ได้แก่ เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ สัตว์ที่มีกระดองแข็ง เช่น หอยนางรม ปู ปลาหมึก น้ำมันมะพร้าว กะทิ เป็นต้น
  2. ควรรับประทานผักให้มากในแต่ละมื้อ โดยเน้นผักใบเขียว อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ อาหารที่ทำจากพืช ถั่วต่าง ๆ และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น ปลาชนิดต่างๆ และเน้นการปรุงประกอบอาหารแบบต้ม อบ นึ่ง ตุ๋น ยำ แทนการใช้น้ำมัน หากจำเป็นต้องใช้น้ำมันควรลดปริมาณให้น้อยลงหรือเลี่ยงการใช้น้ำมันจากพืชเขตร้อน เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ซึ่งจะช่วยลดปริมาณไขมันอิ่มตัวในการบริโภคได้
  3. ควรงดและเลิกสูบบุหรี่
  4. ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 2-3 วัน ครั้งละมากกว่า 30 นาที
  5. งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 
  6. หากิจกรรมคลายเครียดทำในยามว่าง
  7. ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก 6 เดือน – 1 ปี

สรุป ไขมันในเลือดสูงต้องกินยาไปตลอดชีวิตไหม ตอบได้เลยว่าไม่จำเป็นหากเราควบคุมพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันได้ดี ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียดและเลือกทานอาหารเสริมที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่สำหรับผู้ที่เป็นจากกรรมพันธุ์อาจต้องพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามการรักษา ยังไงก็ตาม อย่าลืมปฏิบัติตัวตามที่บอกด้วยล่ะ