ไขมันในเลือดสูงต้องกินยาไปตลอดชีวิตไหม ตับจะพังก่อนหรือเปล่า? หมอบอกไขมันในเลือดสูง จะกินยาก็กลัวตับจะพัง แค่คุมอาหารได้หรือเปล่า ไม่อยากกินยาไปตลอดชีวิต
ไขมันในเลือดสูงคือ ภาวะที่ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ ซึ่งสูงกว่าระดับปกติที่ควรจะเป็น ปัจจัยกระตุ้นมาจากหลายๆอย่าง เช่น การรับประทานอาหาร, ความเครียด, กรรมพันธุ์, การสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อหลายๆโรค เช่น ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง, ให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่พบบ่อยคือ โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้หรือเป็นบุคคลทุพพลภาพ ฟังแล้ว ดูน่ากลัวใช่ไหม? แล้วถ้าไม่อยากเกิดภาวะแบบนี้ต้องทำอย่างไรบ้างล่ะ? เรามาอ่านบทความนี้ไปพร้อมๆกัน
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักประเภทของไขมันในร่างกายกันก่อน ไขมันในเลือดมีหลายชนิด ที่รู้จักกันดีจะมี โคเลสเตอรอล (cholesterol) และไตรกลีเซอร์ไรด์ (triglyceride) นอกจากนี้ โคเลสเตอรอลยังแบ่งออกเป็น เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล (HDL cholesterol) หรือไขมันดีและ แอล ดี แอล โคเลสเตอรรอล (LDL cholesterol) ซึ่งไขมันชนิดที่ไม่ดีก็ให้เกิดโรคต่างๆ ที่กล่าวมา เพราะฉะนั้นเวลาเราไปตรวจค่าไขมัน ผลจะออกมาเป็น 3 ค่า ดังนี้
- ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) เป็นไขมันซึ่งเกิดจากทั้งการสังเคราะห์ในร่างกายของเรา และรับจากการรับประทานอาหาร แต่ถ้าสะสมมากเกินไปจะเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง โดยปกติไม่ควรเกิน 150 mg/dl ไขมันชนิดนี้สามารถควบคุมได้โดยการปรับพฤติกรรม เช่น ควบคุมอาหาร, ลดของหวาน, ลดอาหารประเภทแป้งและแอลกอฮอล์ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
- เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล (HDL cholesterol, High Density Lipoprotein : HDL) คือ ไขมันที่มีความหนาแน่นสูง เป็นไขมันที่ดีต่อหลอดเลือด ช่วยป้องกันไม่ให้ไขมันที่ไม่ดีไปพอกสะสมในหลอดเลือดแดง ค่าปกติไม่ควรต่ำกว่า 40 mg/dl เราสามารถเพิ่ม HDL ได้หลายวิธี เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ, ควบคุมอาหารจำพวกไขมันทรานส์ที่มีส่วนประกอบของเนยเทียม ครีมเทียม มาการีน เป็นต้น, งดสูบบุหรี่, รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช
- แอล ดี แอล โคเลสเตอรรอล (LDL cholesterol, Low Density Lipoprotein : LDL) คือ ไขมันที่มีความหนาแน่นต่ำ เป็นไขมันที่ไม่ดี ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง สาเหตุของโรคหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โดยปกติไม่ควรเกิน 130 mg/dl
นอกจากนี้ยังมีค่าที่สำคัญอีกค่าหนึ่งคือ Total cholesterol หรือระดับโคเลสเตอรอลโดยรวม โดยปกติไม่ควรเกิน 200 mg/dl
สำหรับระดับ LDL ในเลือด มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจาก LDL ทำหน้าที่เป็นตัวนำโคเลสเตอรอลทั้งหลายออกจากตับเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อเซลล์เลือกใช้โคเลสเตอรอลที่ต้องการไปแล้ว โคเลสเตอรอลที่เหลืออยู่ในกระแสเลือดจะเกาะเป็นก้อนตุ่มอยู่ที่ผนังของหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็ง ตีบ นานๆไปตุ่มเหล่านี้จะแตกออกทำให้มีลิ่มเลือดเข้ามาพอกจนอุดตันหลอดเลือด ผลที่ตามมาคืออวัยวะสำคัญที่ต้องอาศัยเลือดจากหลอดเลือดเช่นหัวใจ สมอง ไต เกิดขาดเลือดไปเลี้ยง กลายเป็นโรคเช่นหัวใจขาดเลือด อัมพาตอัมพฤกษ์ ความดันเลือดสูง ไตวาย เป็นต้น อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ LDL เป็นไขมันที่ไม่ดีก็คือการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของ LDL (Oxidation of LDL) ซึ่งเกิดขึ้นในร่างกายของเรา ทำให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างของตัว LDL และตัว Oxidized LDL นี้ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด หลอดเลือดแดงแข็งและกระบวนการอักเสบต่อเนื่องก่อให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในที่สุด
แต่ในทางกลับกันคอเลสเตอรอลก็ยังมีประโยชน์บางส่วนกับร่างกาย เช่น เป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์ ถ้าเรากลัวคอเลสเตอรอลและไปลดปริมาณของมันจนไม่เหลือเลย ก็จะส่งผลให้ผนังเซลล์ของเราไม่แข็งแรงและคอเลสเตอรอลยังเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญในการสร้างฮอร์โมนหลายชนิด ได้แก่ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนต้านความเครียด หากคอเลสเตอรอลของเราน้อยและฮอร์โมนไม่ถูกสร้าง ก็อาจทำให้เราไม่สามารถอดทนต่อความเครียดได้ อีกตัวหนึ่งคือฮอร์เพศหญิงและเพศชาย (Sex hormone) ก็ถูกสร้างมาจากคอเลสเตอรอลเช่นกัน ฮอร์โมนเพศชายจะทำหน้าที่ควบคุมความเป็นชาย ทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีและควบคุมระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย ส่วนฮอร์โมนหญิงช่วยสร้างความเป็นหญิงให้ผู้หญิงมีหน้าอกและมีสะโพกเท่านั้นและยังช่วยป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด ปกป้องกระดูกและกล้ามเนื้อ สังเกตง่ายๆ ได้จากผู้หญิงที่หมดประจำเดือน เพราะฉะนั้นเราจึงควรควบคุมให้มีแต่พอดีและเพียงพอต่อความจำเป็นของร่างกาย นอกจากนี้คอเลสเตอรอลยังมีส่วนร่วมในการบวนการสังเคราะห์วิตามินดี ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความแข็งแรงของกระดูกและฟัน
การสังเคราะห์คอเลสเตอรอลในร่างกายจะเกิดขึ้นที่ตับเป็นหลักและลำไส้บางส่วน โดยมีกระบวนการที่ซับซ้อนหลายขั้นตอนด้วยกัน โดยกระบวนการหลักๆจะเกี่ยวของกับ สารชื่อ HMG-Co A ซึ่งยาลดไขมันส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์ที่สารตัวนี้ ซึ่งการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลที่ตับมีผลกับระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายมากถึง 70-85% ปัจจัยที่สำคัญสำหรับการเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกายมาจากอาหาร ซึ่งมีผลกับระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย 15-30% สำหรับแหล่งของไขมันชนิดจะมาจากอาหารชนิดต่างๆ ได้แก่ คอเลสเตอรอลซึ่งอยู่ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ของสัตว์ เช่น นม เนย
ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันหลักที่เรารับประทานจากอาหาร แบ่งเป็น ไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันจากสัตว์ ไขมันจากนม เนย ชีส และจากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิเป็นต้น
ไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งพบได้ในน้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันพืชทั่วไป เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา เป็นต้น ซึ่งไขมันอิ่มตัวจะส่งผลเสียและก่อโรคต่อร่างกาย แต่ไขมันอิ่มตัวบางตัวก็ส่งผลดีเมื่อทานในปริมาณที่พอเหมาะโดยเฉพาะไขมันที่มาจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว พบว่าสามารถกระตุ้นให้ร่างกายเพิ่มการสังเคราะห์ HDL มากขึ้นได้ ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในระยะยาว
ชนิดของไขมันอีกอย่างหนึ่งที่ควรระวังในการบริโภคก็คือ ไขมันทรานส์ (Trans Fat) ซึ่งเป็นกระแสอยู่ระยะหนึ่ง โดยเกิดจากการนำไขมันจากพืชหรือไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันพืช มาเติมไฮโดรเจนลงไปบางส่วน (Partially Hydrogenated Oil) เพื่อแปลงสภาพให้กลายเป็นของแข็งหรือกึ่งเหลว กลายเป็นไขมันอิ่มตัว อย่างเช่น เนยเทียม เนยขาว มาร์การีน ครีมเทียม สามารถเพิ่มระดับ LDL ในร่างกายได้มากกว่าไขมันตัวอื่น นอกจากนี้ยังลดระดับ HDL ด้วย จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้สูงขึ้น จึงควรเลี่ยงการบริโภคอาหารที่ประกอบด้วยไขมันชนิดนี้ พบในอาหารหลายประเภท เช่น
- ขนมอบเบเกอรี่ เช่น โดนัท ขนมเค้ก พาย คุกกี้ เวเฟอร์ บราวนี่ พิซซ่า ครัวซองต์ แซนวิช ขนมเปี๊ยะ โรตี ป๊อปคอร์นที่ใช้เนยเทียมคั่ว
- เครื่องดื่มสำเร็จรูปประเภทที่มีครีมเทียม วิปปิ้งครีม นมข้นหวาน นมข้นจืด ส่วนผสมเหล่านี้บางชนิดก็มีไขมันทรานส์
- อาหารทอดซ้ำ เช่น ปาท่องโก๋ กล้วยแขก ไก่ทอด หมูทอด มันฝรั่งทอด
ปัจจุบันได้มีการรณรงค์เรื่องการลดบริโภคและการงดใช้ไขมันทรานส์ในการประกอบอาหาร โดยเราจะเห็นได้จากการเคลมและระบุในสินค้าอาหารต่างๆมากขึ้น
ปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายได้ก็คือความเครีย มีการศึกษาพบว่า เมื่อประสบกับภาวะเครียดมาก ในบางคนจะมีระดับ LDL และไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นอย่างมากแม้ในระยะเวลาสั้นๆ และในระยะยาวเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ประสบกับภาวะเครียดเล็กน้อย เนื่องจากความเครียดจะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตพลังงานเพิ่ม ส่งผลให้ตับเพิ่มการผลิต LDL ที่มากขึ้นไปด้วย อีกสาเหตุุหนึ่งคือความเครียดจะไปรบกวนการขจัดไขมันในร่างกาย โดยเพิ่มการอักเสบหลายจุดภายในร่างกาย และวิถีชีวิตที่ส่งผลให้เกิดความเครียดเรื้อรัง เช่น การขาดการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารจำพวกฟาสต์ฟู๊ดที่ไม่ดีต่อสุขภาพประกอบกับชีวิตที่เต็มไปด้วยความเครียดทั้งในเรื่องของการทำงาน, การใช้ชีวิตประจำวัน, การเดินทาง เป็นต้น นอกจากนี้ความเครียดยังกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน Cortisol และ Adrenaline ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างไตรกลีเซอไรด์และกรดไขมันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับ LDL ในร่างกายสูงขึ้น
การรักษาโดยใช้ยาลดไขมัน คุณหมอจะพิจารณาผู้ป่วยโดยใช้หลายปัจจัยร่วมกันก่อนเริ่มยา เริ่มต้นจากให้ผู้ป่วยลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหารและออกกำลังกาย ประมาณ 3-6 เดือนก่อนพิจารณาเริ่มยา ปัจจัยที่คุณหมอจะนำมาพิจารณา ได้แก่ อายุ, ระดับไขมันที่วัดได้ตอนเริ่มต้น, การทำแบบประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในคนไทย, ประวัติครอบครัวที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ, การสูบบุหรี่, ภาวะไตของผู้ป่วย, โรคร่วมเช่น เบาหวาน ความดัน รวมทั้งผู้ที่เคยมีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือดกำเริบ
ตัวยาที่นิยมใช้รักษาประกอบด้วย
- กลุ่ม Statin เป็นยากลุ่มแรกที่นิยมใช้รักษา สำหรับผู้ป่วยที่มีระดับ LDL สูง ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ที่พบคืออาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีหลายขนาด หลายความแรงและหลายยี่ห้อในปัจจุบัน ตัวยาใหม่เช่น Rosuvastatin, Atorvastatin จะออกฤทธิ์ลดไขมันได้ดีขึ้นและมีผลข้างเคียงน้อยลงกว่ายารุ่นแรกที่ชื่อว่า Simvastatin
- กลุ่ม Fibrate นิยมใช้กับผู้ป่วยที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง รวมทั้งผู้ที่มีโรคร่วม เช่น เบาหวาน ไม่นิยมใช้คู่กับกลุ่ม Statin เพราะจะทำให้ผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นได้
- กลุ่ม Ezetimibe นิยมใช้คู่กับกลุ่ม Statin
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอื่น เช่น กลุ่ม Nicotinic acid, กลุ่มยับยั้งการทำงานของน้ำดีเพื่อไม่ให้ไขมันแตกตัวและถูกดูดซึมได้คือ Cholestyramine, กลุ่มยายับยั้งการย่อยของไขมัน เช่น Orilstat การใช้ยาต่างๆ ควรขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอเป็นหลักและการกำหนดเป้าหมายของระดับไขมันในร่างกาย ไม่ควรซื้อยาทานเองนะ
อาหารเสริมสำหรับภาวะไขมันในเลือดสูง
- น้ำมันปลา (Fish oil, Omega-3 Fatty acid) ซึ่งประกอบด้วยสารสำคัญ 2 ตัว คือ eicosapentaenoic acid (EPA) ซึ่งสำคัญต่ออวัยวะหลายส่วน โดยเฉพาะหัวใจและหลอดเลือดอีกตัวคือ docosahexaenoicacid (DHA) ซึ่งสำคัญต่อการบำรุงสมอง ออกฤทธิ์ในการลดระดับไขมันในเลือดด้วยการยับยั้งการทำงานผ่านเอนไซม์ HMG Co-A Reductase ซึ่งเป็นกลไกเดี่ยวกันกับการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่ม Statin สามารถลดภาวะการอักเสบที่เกิดขึ้นภายในร่างกายได้อีกด้วย จากผลการศึกษาพบว่าสามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ มีประโยชน์เมื่อใช้ในขนาด 1 g/day สามารถช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ นอกจากนี้สามารถใช้ลดไตรกลีเซอไรด์ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาในกลุ่ม Fibrate ได้ ในขนาดมากกว่า 2 g/day นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ซึ่งให้ Omega-3 มากกว่า Fish oil ในขนาดที่เท่ากันและดูดซึมเข้าร่างกายได้ดีกว่าคือ Krill oil ซึ่งสกัดจากตัวเคยมีลักษณะคล้ายกุ้งตัวเล็กๆ
- กระเทียม (Garlic) มีสารที่ชื่อว่า Allicin ออกฤทธิ์ในการลดระดับไขมันในเลือดด้วยการยับยั้งการทำงานผ่านเอนไซม์ HMG Co-A Reductase ซึ่งเป็นกลไกเดี่ยวกันกับการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่ม Statin จากการศึกษาพบว่าสามารถช่วยป้องกันการเปลี่ยนไขมัน LDL ให้กลายเป็น Oxidized LDL ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด หลอดเลือดแดงแข็งและกระบวนการอักเสบต่อเนื่องก่อให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในที่สุด ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากกระเทียมหลากหลายรูปแบบมาก อาทิเช่น รูปแบบเม็ดซึ่งประกอบด้วยสารสกัดจากน้ำมันกระเทียม รูปแบบผลกระเทียมดำซึ่งนำไปบ่มเพื่อให้เพิ่มคุณค่าของสารสกัดในกระเทียมให้มากขึ้นกว่ากระเทียมสดทั่วไป
- ขมิ้นชัน มีสารที่เรียกว่า Curcumin ออกฤทธิ์ในการลดระดับไขมันในเลือดด้วยการยับยั้งการทำงานผ่านเอนไซม์ HMG Co-A Reductase ซึ่งเป็นกลไกเดี่ยวกันกับการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่ม Statin จากการศึกษายังพบว่า ขมิ้นชันยังช่วยการป้องกันการเปลี่ยนไขมัน LDL ให้กลายเป็น Oxidized LDL ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด หลอดเลือดแดงแข็งและกระบวนการอักเสบต่อเนื่องก่อให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในที่สุด เหมือนกับกระเทียมเลย
- แอลคาร์นิทีน (L-Carnitine) เป็นสารที่ร่างกายนำไปใช้ในกระบวนการดึงไขมันเข้าไปสร้างเป็นพลังงาน จะออกฤทธิ์ได้ดีเมื่อออกกำลังกายร่วม จากการศึกษาเมื่อรับประทานแอลคาร์นิทีนวันละ 1-2 g พบว่าปริมาณของกล้ามเนื้อมากขึ้นและไขมันลดลง
- CLA (Conjugated Linoleic Acid) ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ LPL (Lipo-protein Lipase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้สำหรับการสร้างไขมันและเก็บสะสมไขมัน ช่วยเผาผลาญไขมันและกระชับสัดส่วน
- สารสกัดส้มแขก (Garcinia cambogia Extract) เป็นสารสกัดจากผลส้มแขกมีคุณสมบัติในการขัดขวางการเปลี่ยนแปลงสารอาหารจำพวกน้ำตาลกลูโคสเป็นสารอาหารจำพวกไขมัน สามารถยับยั้งเอนไซม์ ATP Citrate Lyase ลดการสะสมของไขมันจากอาหารที่ทานเข้าไปและช่วยดึงไขมันออกมาเผาผลาญ
- ไคโตซาน (Chitosan) ซึ่งเป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่สกัดจากเปลือกของกุ้ง กระดองปู มีประจุบวก สามารถดักจับกับไขมันที่เป็นประจุลบ ยับยั้งไขมันในอาหารที่เรารับประทานไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ลำไส้ ไขมันก็ถูกขับถ่ายออกมา ช่วยลดการสะสมไขมันในร่างกาย ควรทานก่อนอาหาร 15-30นาที
- สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ มีหลายชนิดด้วยกัน สามารถทานร่วมกับวิตามินซี มีหลายชนิดเช่น grape seed, astaxantin, pycnogenol จากการยกตัวอย่างนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่มีขายตามท้องตลาด เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถลดการเกิด Oxidized LDL ในร่างกายได้
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสำหรับผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
- ควรลดอาหารจำพวกขนมหวานทุกชนิด ผลไม้รสหวานจัดและผลไม้แปรรูป น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ของทอดต่างๆ แกงกะทิ อาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ เช่น เนย หรือมาการีน อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวหรือคอเลสเตอรอล ได้แก่ เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ สัตว์ที่มีกระดองแข็ง เช่น หอยนางรม ปู ปลาหมึก น้ำมันมะพร้าว กะทิ เป็นต้น
- ควรรับประทานผักให้มากในแต่ละมื้อ โดยเน้นผักใบเขียว อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ อาหารที่ทำจากพืช ถั่วต่าง ๆ และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น ปลาชนิดต่างๆ และเน้นการปรุงประกอบอาหารแบบต้ม อบ นึ่ง ตุ๋น ยำ แทนการใช้น้ำมัน หากจำเป็นต้องใช้น้ำมันควรลดปริมาณให้น้อยลงหรือเลี่ยงการใช้น้ำมันจากพืชเขตร้อน เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ซึ่งจะช่วยลดปริมาณไขมันอิ่มตัวในการบริโภคได้
- ควรงดและเลิกสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 2-3 วัน ครั้งละมากกว่า 30 นาที
- งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- หากิจกรรมคลายเครียดทำในยามว่าง
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก 6 เดือน – 1 ปี
สรุป ไขมันในเลือดสูงต้องกินยาไปตลอดชีวิตไหม ตอบได้เลยว่าไม่จำเป็นหากเราควบคุมพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันได้ดี ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียดและเลือกทานอาหารเสริมที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่สำหรับผู้ที่เป็นจากกรรมพันธุ์อาจต้องพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามการรักษา ยังไงก็ตาม อย่าลืมปฏิบัติตัวตามที่บอกด้วยล่ะ