Skip to content

เลือกสิ่งที่ใช่ ให้ประโยชน์กับร่างกายด้วยการเพิ่มภูมิคุ้มกัน

ระบบภูมิคุ้มกัน  เป็นกลไกภายในร่างกายที่ทำหน้าที่ป้องกันและต่อต้านอันตรายจากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่สามารถก่อให้โรคภัยไข้เจ็บ เมื่อเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ โดยเฉพาะเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ รวมไปถึงการทำหน้าที่ตรวจสอบและสร้างกลไกการตอบสนอง เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ ทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ

ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายของมนุษย์มีด้วยกันมากมายหลายระบบ ซึ่งแต่ละระบบต่างมีกลไกการทำงานที่แตกต่างกันออกไป โดยในทางชีววิทยา ลักษณะการทำงานหลักของระบบภูมิคุ้มกันสามารถจำแนกออกตามความจำเพาะเจาะจงได้ 2 ลักษณะ ดังนี้

1. ระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะ (Non-Specific Defense Mechanism) หมายถึง ระบบการกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายที่ไม่มีเป้าหมายเฉพาะ และสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ พันธุกรรม ฮอร์โมน และความสมบูรณ์ทางร่างกายของแต่ละบุคคล ส่งผลให้มีความสามารถป้องกันและทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมอย่างจำกัด ผ่านกลไกย่อย 3 ลักษณะ ได้แก่

1.1 การป้องกันทางกายวิภาค คือ กลไกการป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย โดยการกีดขวางตามธรรมชาติของร่างกาย ได้แก่ ผิวหนัง เยื่อเมือกที่บุตามผิว และขนอ่อนตามอวัยวะต่าง ๆ

1.2 การป้องกันโดยสารเคมีในร่างกาย คือ กลไกการป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย โดยอาศัยสารเคมีต่าง ๆ ที่หลั่งออกมา เช่น การหลั่งน้ำตา น้ำลาย และสารเคมีที่มีสภาวะความเป็นกรด-เบสจากอวัยวะส่วนต่าง ๆ เพื่อทำให้เชื้อโรคไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้

1.3 การกลืนกินของเซลล์ (Phagocytosis) คือ กลไกการป้องกันและทำลายสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย จากการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ โดยการล้อมจับและย่อยสลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่เซลล์พร้อมกับการสลายตัวของตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการทำลายเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบและเกิดหนองนั่นเอง

2. ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (Specific Defense Mechanism) หมายถึง ระบบการตอบสนองและกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายอย่างจำเพาะเจาะจง ผ่านการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว 2 ชนิด คือ เซลล์บี (B Cell) และเซลล์ที (T Cell) ซึ่งจะจับกับแอนติเจนอย่างจำเพาะ พร้อมกระตุ้นให้เซลล์บีพัฒนาไปเป็นเซลล์พลาสมา (Plasma Cell) เพื่อทำหน้าที่สร้างแอนติบอดีให้เข้าทำลายสิ่งแปลกปลอมที่จำเพาะกับเซลล์

ในร่างกายของมนุษย์ ภูมิคุ้มกันทั้ง 2 ระบบต่างทำงานประสานกัน ผ่านทางเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ในกระแสเลือดและน้ำเหลือง รวมถึงในเนื้อเยื่อและอวัยวะสำคัญของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง ต่อมทอนซิล และม้าม เพื่อป้องกัน ดักจับและกำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายและการเลือกรับโภชนาการที่เหมาะสมล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

Probiotics (โพรไบโอติกส์)

ลำไส้ เป็นอวัยวะที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพมากที่สุด ลำไส้เป็นทั้งสมองที่สองของร่างกาย เนื่องจากมีระบบสั่งการการทำงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ผ่านสมอง และ เป็นหน่วยสร้างภูมิต้านทาน โดยพบว่า 70% ของเซลล์ภูมิต้านทานอยู่ที่ลำไส้ การมีปัญหาที่กระเพาะและลำไส้จึงทำให้มีโอกาสที่จะเป็นโรคต่างๆ ง่ายขึ้นด้วย เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ ผื่นคัน ลำไส้แปรปรวน นอกจากนี้การมีลำไส้ไม่แข็งแรงจะทำให้เกิดภาวะลำไส้รั่ว (Leaky gut syndrome) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่างๆได้ ดังนั้นการที่ร่างกายมีสมดุลย์จุลินทรีย์ที่ดี จะทำให้ลำไส้แข็งแรง และเมื่อลำไส้แข็งแรงก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรงไปด้วย โดยจุลินทรีย์แต่ล่ะสายพันธุ์จะมีความคงทนและช่วยเสริมในแต่ล่ะด้านแตกต่างกัน

  • Saccharomyces Boulardii เป็นยีสต์ที่พบได้ในกลุ่มโพรไบโอติกส์ ไม่มีอยู่ในร่างกายของมนุษย์ตามธรรมชาติ แซคคาโรไมซิสช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย และบรรเทาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับด้านทางเดินอาหาร
  • Bacillus Coagulans เป็นโพรไบโอติกส์ที่สามารถทนความร้อนและกรดในกระเพาะอาหารได้ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย ระบบย่อยอาหาร ลดอาการลำไส้แปรปรวน ลดอาการท้องร่วง
  • Lactobacillus acidophilus สร้างสมดุลในลำไส้ เสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยย่อยและดูดซึมสารอาหาร ช่วยปรับ pH ในช่องคลอดให้สมดุล เพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ชนิดดีในช่องคลอด สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียจากการฟักตัวและเจริญเติบโตได้
  • Lactobacillus rhamnosus ช่วยปรับ pH ในช่องคลอดให้สมดุล เพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ชนิดดีในช่องคลอด สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียจากการฟักตัวและเจริญเติบโตได้ ลดความเครียดและความกังวลขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอด ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • Lactobacillus paracasei ช่วยลดการอักเสบและช่วยให้การบีบตัวในระบบทางเดินอาหารของผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome: IBS) ให้ดีขึ้นได้ บรรเทาอาการท้องอืด อาการปวด สุขภาพช่องปากดีขึ้น ลดอาการฟันผุ
  • Lactobacillus salivarius สามารถช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ช่วยในการย่อยและดูดซึมสารอาหาร
  • Lactobacillus reuteri เป็นหนึ่งในโพรไบโอติกส์สำหรับเด็ก เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีงานวิจัยทางการแพทย์รองรับหลายชิ้นว่า โพรไบโอติกส์นิดนี้อาจช่วยให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ โพรไบโอติกส์สายพันธุ์เฉพาะ Lactobacillus reuteri DSM17938 ยังได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารนานาชาติ (WGO: World Gastroenterology Organisation) ซึ่งได้แนะนำโพรไบโอติกส์สายพันธุ์นี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อในเด็กที่ต้องเข้าศูนย์รับเลี้ยงตอนกลางวัน เด็กเล็กที่มีอาการร้องกวนโคลิค หรือเด็กที่มีภาวะปวดท้อง
  • Lactobacillus gasseri ส่งเสริมสุขภาพลำไส้ กระตุ้มภูมิคุ้มกัน ลดการติดเชื้อก่อโรค
  • Bifidobacterium longum ป้องกันภูมิแพ้ ไข้หวัดใหญ่ ส่งเสริมสุขภาพลำไส้ ป้องกันลำไส้อักเสบและมะเร็งลำไส้
  • Bifidobacterium lactis ช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ลดการอักเสบช่วยในการย่อยอาหาร ปรับสมดุลการทำงานของลำไส้
  • Bifidobacterium breve ป้องกันอาการภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นคัน หอบหืดที่เกิดจากภูมิแพ้ ลดการอักเสบติดเชื้อซึ่งนำไปสู่ภาวะลำไส้รั่ว  ทำให้ผนังลำไส้ให้อยู่ในสภาวะสมบูรณ์มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบเมตาบอลิซึม  ลดการสะสมของไขมันในอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย
  • Bifidobacterium bifidum พบได้ทั่วไปในลำไส้ใหญ่และช่องคลอด ถือเป็นโพรไบโอติกส์ที่สำคัญช่วยป้องกันการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียก่อโรค โดยไปยึดเกาะผนังลำไส้ คอยเพิ่มจำนวนและแย่งสารอาหารจากจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ดี เสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยเพิ่มการดูดซึมแร่ธาตุ
  • Bifidobacterium animalis เป็นโพรไบโอติกส์ที่สามารถทนกรดในกระเพาะอาหารได้ ปรับสมดุลในลำไส้ ช่วยในเรื่องลดน้ำตาลและไขมันในเลือด
  • Bifidobacterium infantis ส่วนช่วยในการส่งเสริมสุขภาพจิตและระบบประสาท

Betaglucans (เบต้ากลูแคน)

เบต้ากลูแคนเป็นสารกลุ่มโพลีแซคคาไรด์ พบได้ในผนังเซลล์ของแบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ สาหร่าย หรือพืชชนิดต่าง ๆ เบต้ากลูแคนมีหลายโครงสร้างทางเคมี แต่ละโครงสร้างเคมีจะมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่เท่ากัน ประโยชน์ของเบต้ากลูแคนจึงขึ้นอยู่กับโครงสร้างที่รับประทาน อาหารแต่ละชนิดก็จะให้เบต้ากลูแคนแตกต่างชนิดกัน เช่น เบต้ากลูแคนจากซีเรียลจากข้าวโอ๊ตหรือข้าวบาร์เลย์จะเป็น (β-1,3/1,4) ในขณะที่เบต้ากลูแคนจากเห็ด เช่น เห็ดไมตาเกะ จะเป็น  β-1,3/β-1,6 สายตรง

เบต้ากลูแคนเป็นหนึ่งในสารที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างภูมิต้านทานที่มีการศึกษามากที่สุด เบต้ากลูแคนต่างชนิดกันจะมี ขนาด รูปร่างโมเลกุล ค่าการละลายและประสิทธิผลต่อร่างกายที่แตกต่างกัน พบว่า β-1,3/β-1,6 ช่วยในการกระตุ้นภูมิต้านทานได้ดี เบต้ากลูแคนเห็ดมีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างและปรับสมดุลของภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเบต้ากลูแคนที่สกัดมาจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น รา เป็นต้น

โดยทั่วไปเชื้อโรคในทางเดินอาหารจะถูกจับกินโดยเม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจ (Macrophage) และเกิดการสร้างภูมิต้านทานเชื้อชนิดนั้น ๆ ที่เข้ามา พบว่าเบต้ากลูแคนมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ โดยเมื่อรับประทานเบต้ากลูแคน เม็ดเลือดขาวในร่างกายเข้าใจว่าเบต้ากลูแคนเป็นเชื้อโรค ร่างกายก็จะเกิดการหลั่งสารเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานทำให้เซลล์ภูมิต้านทานแบ่งตัวเพิ่มจำนวน แต่เบต้ากลูแคนไม่ใช่เชื้อโรคจึงไม่แบ่งตัวและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย นอกจากนี้เบต้ากลูแคนช่วยเพิ่มการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจให้จับกินเชื้อโรคได้ว่องไวมากขึ้นและส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังเซลล์ต่าง ๆ อีกด้วย

Acerola cherry (อะเซอโรล่าเชอร์รี่)

ผลไม้เมืองร้อนที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นแหล่งของวิตามินซี  อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มีโปรตีนและแร่ธาตุสูง โดยเฉพาะ เหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียมและมีไฟโตนิวเทรียนส์ (Phytonutrients) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีปริมาณของไขมันอิ่มตัวและโซเดียมต่ำ ไม่มีโคเลสเตอรอล ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันหวัดและอาการเลือดออกตามไรฟัน ช่วยให้ผิวกระจ่างใส โดยมีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระและลดการหลั่งสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ (pro-inflammatory cytokines) เช่น IL-1β IL-6 และ TNF-α

วิตามินซีจากอะเซโลลาเชอร์รี่ สามารถดูดซึมผ่านลำใส้เล็กได้เร็วกว่าวิตามินสังเคราะห์ถึง 1.63 เท่า เนื่องจากไฟโตนิวเทรียนท์ในอะเซโลาเชอร์รี่ เช่นทฟลาโวนอยด์ และแอนโธไซยานิน ที่ช่วยเพิ่มการดูดซึมวิตามินซี และยังมีวิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 และวิตามินบี3 เป็นส่วนประกอบ โดยแนะนำให้รับประทานทานอย่างน้อย 500 mg ต่อวัน แต่ไม่ควรเกิน 2,000 mg ต่อวัน เนื่องจากร่างกายอาจดูดซึมได้ไม่หมดและอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น แสบท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

Zinc (สังกะสี)

ช่วยควบคุมให้กระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายเป็นปกติ โดยมีส่วนช่วยในการทำงานของเอ็นไซม์ต่างๆของร่างกาย ซึ่งรวมถึงกระบวนการย่อยและเผาผลาญสารอาหารต่างๆ และมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย กระบวนการสังเคราะห์สารพันธุกรรม ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท ฮอร์โมน รวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน เช่นการสร้างภูมิคุ้มกัน การเจริญเติบโต การทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของเม็ดเลือดขาวทั้ง T-Lymphocyte, Macrophage, Neutrophils และ NK-Cell ให้ตื่นตัว และรีบเคลื่อนไหวมากำจัดเชื้อโรคที่เข้ามาบุกรุกในร่างกายของเรา นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส ช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัด และลดโอกาสการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ แต่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างแร่ธาตุชนิดนี้เองได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหารเป็นส่วนประกอบโดยเฉลี่ยในปริมาณ 15 มิลลิกรัมต่อวัน

Selenium (ซีลีเนียม)

เป็นแร่ธาตุที่มักจะทำงานร่วมกับวิตามินอี โดยมีบทบาทสำคัญกับเอนไซม์ 2 ชนิด ที่เป็นกระบวนการหลักในการต้านอนุมูลอิสระของร่างกาย คือ glutathione peroxide และ thioredoxin reductase จึงมีส่วนช่วยป้องกันความเสื่อมของเซลล์จากอนุมูลอิสระต่างๆ ลดโอกาสที่เซลล์จะบาดเจ็บจนเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ รวมทั้งช่วยชะลอการแก่ตายของเซลล์ตามธรรมชาติ (Apoptosis) มีส่วนกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน โดยช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate immunity) และเซลล์เม็ดเลือดขาวหลายชนิด รวมทั้งช่วยกดการทำงานของเชื้อโรค ขนาดการรับประทานที่แนะนำคือ 70-200 ไมโครกรัมต่อวัน

เอกสารอ้างอิง
  1. Murphy EJ, Rezoagli E, Major I, Rowan NJ, Laffey JG. β-Glucan Metabolic and Immunomodulatory Properties and Potential for Clinical Application. J Fungi (Basel). 2020 Dec 10;6(4):356. doi: 10.3390/jof6040356. PMID: 33322069; PMCID: PMC7770584.
  2. Arboleya, S., Watkins, C., Stanton, C., & Ross, R. P. (2016). Gut bifidobacteria populations in human health and aging. Frontiers in microbiology, 7, 1204.
  3. Turroni, F., Milani, C., Duranti, S., Ferrario, C., Lugli, G.A., Mancabelli, L., Sinderen, D.V., & Ventura, M. (2017). Bifidobacteria and the infant gut: an example of co-evolution and natural selection. Cellular and Molecular Life Sciences, 75, 103-118.
  4. Oledzki R, Harasym J. Acerola (Malpighia emarginata) Anti-Inflammatory Activity-A Review. Int J Mol Sci. 2024 Feb 8;25(4):2089. doi: 10.3390/ijms25042089. PMID: 38396766; PMCID: PMC10889565.