วันวาเลนไทน์เทศกาลแห่งความรักวนเวียนมาถึงให้คนโสดกระวนกระวาย เมื่อพูดถึงความรัก เคยสงสัยไหมว่าคนที่มีความรักนั้น ความรักเกิดได้อย่างไร เกิดขึ้นที่หัวใจหรือเกิดขึ้นจากสมอง ความรู้สึกรักแบบคนรัก พ่อแม่ลูก พี่น้อง เหมือนกันหรือไม่ เกิดขึ้นจากองค์ประกอบที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ในปี 1986 โรเบิร์ต เจฟฟรีย์ เสติร์นเบิร์ก นักจิตวิทยาชาวสหรัฐอเมริกาได้ตั้งทฤษฎีซึ่งได้รับการยอมรับอย่างมาก คือ “ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก (Triangle theory of love)” ซึ่งได้นิยามความรักว่า ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ
- ความลุ่มหลง (Passion) คือ แรงขับภายในหรือแรงดึงดูดซึ่งนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางกาย ความหลงใหลเป็นความรู้สึกซึ่งมีระยะเวลาที่ไม่แน่นอน เป็นที่มาขอคำว่า “หมด passion”
- ความสนิทสนมคุ้นเคย (Intimacy) เป็นความรู้สึกสบายใจ ความรู้สึกดี ปลอดภัยเมื่อได้อยู่ใกล้ ความเข้าใจ ความเอื้ออาทรต่อกัน ความปรารถนาดีต่ออีกฝ่าย ซึ่งความสนิทสนมนี้เป็นองค์ประกอบในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเพื่อนกับเพื่อน บุคคลในครอบครัว คนรัก
- การผูกมัด (Commitment) คือ การตัดสินใจ การมีสัญญาต่อกันที่จะมีพันธะทางใจหรือทางสังคมต่อกัน
ความรักกับสารเคมีในสมอง
- เอสโตรเจน (Estrogen: ฮอร์โมนเพศหญิง) และเทสโทสเตอโรน (Testosterone: ฮอร์โมนเพศชาย) เป็นฮอร์โมนที่อยู่เบื้องหลังแรงขับดันภายในหรือแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน เป็นฮอร์โมนที่เชื่อว่าทำให้เกิดความใคร่ ขับเคลื่อนสัญชาตญาณของคู่รัก
- โดปามีน (Dopamine) ฮอร์โมนโปรโมชั่นและการดึงดูด เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เรารู้สึกตื่นตัว หัวใจเต้นแรง ทำให้เรารู้สึกกระฉับกระเฉง โดปามีนจะหลั่งมากในช่วงแรกที่คบกับคนรักหรือในช่วงเริ่มแรกของการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ถูกใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อเราเริ่มพบความจำเจ เดาทางคู่รักได้ ความน่าค้นหาในตัวฝ่ายตรงข้ามลดลง พบว่าโดปามีนก็จะหลั่งลดลง ซึ่งเรามักเรียกระยะนี้ว่า “ระยะหมดโปรโมชั่น”
- เอ็นโดรฟิน (Endorphin) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ฮอร์โมนแห่งความสุข” เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล ช่วยระงับความปวด ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย รักและเคารพตัวเอง พบว่าเอ็นโดนฟินจะหลั่งมากขึ้นเมื่อออกกำลังกาย การได้รับประทานอาหารที่ชอบ การมีเพศสัมพันธ์
- ซีโรโทนิน (Serotonin) เคมีแห่งความสุขและความสงบ สมาธิ หากมีระดับซีโรโทนินในระดับที่เหมาะสมจะช่วยให้หลับดี มีอารมณ์ที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวง่าย นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมบางอย่างในขณะที่กำลังตกหลุมรัก เช่น การเผลอยิ้มโดยไม่รู้ตัวเมื่อคิดถึงคนที่ชอบ คนที่ระดับซีโรโทนินต่ำมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น อารมณ์ร้อน หุนหันพลันแล่น ความต้องการทางเพศสูง
- ออกซิโทซิน (Oxytocin) ฮอร์โมนแห่งความรัก เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในขณะที่มีการสัมผัส การกอด การมีเพศสัมพันธ์ ทำให้คู่รักมีความรักและความผูกพัน เข้าอกเข้าใจกัน อยากอยู่ร่วมกับคนรักและความรู้สึกของการอยากสร้างครอบครัว พบว่าออกซิโทซินจะหลั่งมากตอนที่มารดาคลอดบุตรทำให้เกิดสายใยความผูกพันระหว่างแม่และลูก
- วาโซเพรสซิน (Vasopressin) ฮอร์โมนการรักเดียวใจเดียว เกิดเป็นความรู้สึกรักอย่างลึกซึ้ง เป็นฮอร์โมนที่ทำให้คู่รักอยากใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่นอกใจและคงความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียวไปตลอด นอกจากนี้วาโซเพรสซินยังเกี่ยวข้องกับการควมคุมสมดุลน้ำในร่างกาย
ทำไมเราถึงแพ้ทางคนไทป์เดิมๆอยู่เรื่อยไป
จะเจ็บจะช้ำ เคยผิดหวังกับคนไทป์นี้แต่เจอกี่ทีก็ยังเผลอไปตกหลุมรักหลุมชอบอยู่เรื่อยไป ซึ่งมีคำอธิบายจากนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ฮาร์วิลล์ เฮนดริกซ์ (Harville Hendrix) โดย Imago theory ที่บอกว่าคนเรามักมีสิ่งที่ขาดบกพร่องไปในวัยเด็กและเรามักมองหาสิ่งนั้นจากคนที่เข้ามา เพื่อมาเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปนั้นโดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น ถ้าเราเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง เรามักจะถูกดึงดูดจากคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง นั่นเป็นเหตุผลว่าบางคนเคยผิดหวังในเรื่องของความรักกับคนลักษณะแบบเดิมๆมาหลายต่อหลายครั้ง แต่เมื่อเจอคนใหม่ที่มีลักษณะเดิมๆนั้นก็กลับไปตกหลุมรักอยู่ดี
ในช่วงที่กำลังตกหลุมรักใครสักคน ด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนทำให้เห็นแต่ข้อดีของคนรัก โลกกลายเป็นสีชมพู แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจึงเพิ่งเห็นข้อเสียของคนรัก
อย่างไรก็ตามการที่คนเรามีความรักที่ดูดดื่ม ณ ตอนนี้ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าความรักนี้จะอยู่ยั่งยืนตลอดไปชั่วนิรันด์ เพราะความรักเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกซึ่งเป็นไดนามิก สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพื่อให้ความรักยั่งยืนมีความจำเป็นที่เราจะต้องใส่ใจ ให้ความสำคัญกับคนที่รัก ย้อนกลับมาทำความเข้าใจกับรูปแบบความรักความสัมพันธ์รอบตัว แก้ไขและลดจุดบกพร่อง เติมเต็มองค์ประกอบที่ขาดหายไปเพื่อนำไปสู่การมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนต่อไป
อ้างอิง
- Krishna G. Seshadri. The neuroendocrinology of love. Indian J Endocrinol Metab. 2016 Jul-Aug; 20(4): 558–563.
- Howard E. LeWine. Oxytocin: The love hormone. Available at: https://www.health.harvard.edu/mind-and-mood/oxytocin-the-love-hormone
- Laura Williamson. This is your brain on love. Available at: https://www.heart.org/en/news/2023/02/10/this-is-your-brain-on-love