Skip to content

สมดุลของน้ำและเกลือ

ในทุกสิ่งมีชีวิตมักมีน้ำเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเสมอ เนื่องจากน้ำเป็นตัวทำละลายของเหลวภายในเซลล์ ซึ่งมีเกลือแร่ต่างๆ ร่างกายที่ทำงานเป็นปกติต้องสามารถรักษาสมดุลของน้ำและเกลือไว้ได้ ส่วนเกลือเป็นคำเรียกทั่วไปของสารประกอบที่ประกอบด้วยไอออนบวกของโลหะ และไอออนลบของอโลหะ แต่หากพูดถึงเกลือที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายใน ชีวิตประจำวันและส่งผลกระทบต่อสุขภาพในที่นี้หมายถึง เกลือแกงหรือ Sodium Chloride (NaCl) โดยเมื่อละลายน้ำแล้วจะแตกตัวให้ โซเดียมไอออน (Na+) และ คลอไรด์ไอออน (Cl-) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการทำงานของระบบต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะโซเดียมไอออน (Na+) นั้นเป็นส่วนประกอบของของเหลวที่สำคัญในร่างกาย และมีหน้าที่ในการรักษาระดับ osmotic gradient ระหว่างภายในและนอกเซลล์ไว้ โดยโซเดียมจะกระจายตัวอยู่ในส่วนของน้ำนอกเซลล์ ประมาณร้อยละ 97.7 ส่วนโซเดียมที่เหลืออีกร้อยละ 3.3 นั้นอยู่ภายในเซลล์ ระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกันของโซเดียม ไอออน (Na+) นี้เองเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมปริมาณของน้ำและการเคลื่อนที่ย้ายน้ำในร่างกาย

โดยทั่วไปสามารถจำแนกเกลือแร่ที่มีความสำคัญต่อร่างกายออกเป็น 2 กลุ่ม
1. เกลือแร่หลัก (Macrominerals)

เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการมากกวา 100 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเกลือแร่ที่พบอยู่ในร่างกายในปริมาณมาก ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม คลอรีน โพแทสเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน

2. เกลือแร่รอง (Microminerals)

เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อวัน ได้แก่ เหล็ก สังกะสี ไอโอดีน ทองแดง เซเลเนียม แมงกานีส ฟลูออรีน และโครเมียม

นอกจากนี้ยังมีเกลือแร่ที่ร่างกายได้รับในระดับไมโครกรัมต่อวัน เรียกว่า ultratrace elements เช่น นิเคิล ซิลิกอน ดีบุก วานาเดียม อะลูมิเนียม และอาร์เซนิค

การขาดความสมดุลของเกลือแร่ทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ พบว่าในคนที่เสียเหงื่อมาก อาเจียนหรือท้องเสียรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จึงต้องได้รับเกลือแร่ทดแทนเพื่อปรับสมดุลในร่างกาย  โดยปกติร่างกายจะมีการดูดกลับน้ำที่บริเวณลำไส้ประมาณ 50-70% ของน้ำที่ถูกขับออกจากร่างกาย และที่เหลืออีกประมาณ 20% จะถูกดูดกลับที่ลำไส้ใหญ่ กลไกการดูดกลับน้ำบริเวณลำไส้มีการดูดกลับน้ำแบบ passive transport คือการดูดกลับน้ำโดยอาศัย osmotic gradient ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ต้องใช้พลังงาน แต่ในภาวะที่เกิดอาการท้องเสียกระบวนการดังกล่าวจะถูกรบกวน ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดกลับน้ำได้ตามปกติ เกิดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ตามมา นอกจากนี้ลำไส้ยังมีกระบวนการดูดกลับน้ำโดยอาศัย Na+-glucose co transport  ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยพลังงาน และกระบวนการดังกล่าวจะไม่ถูกรบกวนเมื่อเกิดท้องเสีย ดังนั้นจึงสามารถใช้สารทดแทนน้ำและเกลือแร่ผ่าน Na+- glucose co transport สำหรับอาการท้องเสียได้

1. เกลือแร่สำหรับคนที่ท้องเสีย หรืออาเจียน (Oral ReHydration Salt หรือ ORS)

ในน้ำดื่มเกลือแร่สำหรับคนที่ท้องเสียหรืออาเจียนนี้เป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งประเทศไทย มักจะเป็นชนิดผงน้ำตาลผสมเกลือแร่ซึ่งผู้ที่ท้องเสียหรืออาเจียนร่างกายจะขาดน้ำและเกลือแร่ จึงต้องให้น้ำและเกลือแร่มาทดแทนในร่างกายทันที ซึ่งในกรณีผู้ที่อาเจียนนี้หมายถึงยังสามารถดื่มน้ำได้และมีสติ

ORS มีส่วนประกอบหลักคือ sodium chloride, sodium citrate dihydrate, potassium chloride เป็นเกลือแร่ที่สำคัญที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้และมีกลูโคสเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็วจึงให้พลังงานได้ทันที วิธีรับประทาน ORS คือ ละลายผงยาทั้งซองลงในน้ำดื่มต้มสุกที่เย็นแล้วค่อยๆจิบแทนน้ำเมื่อเริ่มมีอาการท้องเสีย ให้ดื่มน้ำชดเชยตามปริมาณอุจจาระและปัสสาวะที่ถ่ายออกไป หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น และควรระวังการใช้เกลือแร่ในผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ

หากฉุกเฉินแล้วไม่มีผงเกลือแร่สามารถทำน้ำเกลือผสมเอง ได้โดยใช้เกลือป่น ½ ช้อนชา และน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 750 หรือหากละลายยาก สามารถใช้น้ำอุ่นมาละลายได้

ปัจจุบัน ORS มีการพัฒนาเป็นสูตร Reduced Osmolarity ORS (RO-ORS) ซึ่งมีปริมาณโซเดียม กลูโคส และ osmolarity ต่ำกว่าสูตรเดิม สามารถใช้ป้องกันและรักษาภาวะขาดน้ำในผู้ป่วยโรคท้องร่วงเฉียบพลันได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

 2. เกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย (Oral Rehydration Therapy หรือ ORT)

น้ำดื่มเกลือแร่ชนิดนี้ต่างจากชนิดที่ให้สำหรับคนท้องเสีย เนื่องจากผู้ที่ออกกำลังกายจะเสียน้ำและน้ำตาลเป็นหลัก ส่วนเกลือแร่จะสูญเสียในปริมาณที่น้อย สำหรับเกลือแร่สำหรับผู้ออกกำลังกายมักเป็นน้ำเกลือสำเร็จรูป โดยแต่ละแบรนด์จะมีสูตรที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปจะมีปริมาณเกลือแร่ไม่เกินค่าแนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป  และมีสารอาหารเพื่อช่วยทดแทนการสูญเสียเหงื่อและพลังงาน เช่น sucrose, potassium chloride, calcium lactate

เกลือแร่ทั้งสองชนิดมีสูตรที่ต่างกัน ถ้าเป็นเกลือแร่สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย ปริมาณเกลือแร่หรือปริมาณโซเดียมจะสูงกว่า ส่วนเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย จะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่าเพื่อให้พลังงาน ดังนั้นหากเกิดอาการท้องเสีย แต่ไปดื่มน้ำเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกายจะยิ่งเป็นการกระตุ้นท้าให้เกิดอาการท้องเสียได้มากขึ้น เนื่องจากเครื่องดื่มชนิดนี้จะมีปริมาณน้ำตาลและเกลือแร่บางชนิดที่สูงกว่า ส่งผลให้ร่างกายดึงน้ำเข้ามาในทางเดินอาหาร ล้าไส้ถูกกระตุ้นและบีบตัวทำให้ถ่ายมากยิ่งขึ้น อาการจะทรุดลง

เอกสารอ้างอิง
  1. Aghsaeifard Z, Heidari G, Alizadeh R. Understanding the use of oral rehydration therapy: A narrative review from clinical practice to main recommendations. Health Sci Rep. 2022 Sep 11;5(5):e827. doi: 10.1002/hsr2.827. PMID: 36110343; PMCID: PMC9464461.
  2. Sachdev HP. Oral rehydration therapy. J Indian Med Assoc. 1996 Aug;94(8):298-305. PMID: 8855579.