“วัยทอง ช่างเป็นคำแสลงหูผู้หญิงอย่างเราจริงๆ ไหนจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ทั้งขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย ผิวก็แห้งเหี่ยว เห็นอะไรก็หงุดหงิดไปหมด จนไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ จะดีกว่ามั้ยถ้าเราเตรียมรับมือกับภาวะวัยทองตั้งแต่เนิ่นๆ”
วัยทองคืออะไร
ก่อนอื่นเราต้องรู้จักกับคำว่าวัยทองก่อนว่าคืออะไร ใช่เรารึเปล่า…
วัยทอง (Menopause) เป็นคำเรียกของผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ประจำเดือนขาดไปอย่างน้อย1ปี ภาวะนี้เกิดจากการที่รังไข่หยุดสร้างฮอร์โมนเพศญิงอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน อาจจะเกิดตามธรรมชาติ หรือพบในผู้หญิงที่ผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้างก็ได้ โดยพบว่าอายุเฉลี่ยที่ผู้หญิงไทยเข้าสู่วัยทองจะอยู่ที่ประมาณ 48-52 ปี
อาการของคนวัยทองเกิดจากอะไร
“แม้ว่าการเป็นสตรีวัยทองจะเกิดกับผู้หญิงทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ใช่ว่าทุกคนต้องมีอาการวัยทอง โดยพบว่าอาการวัยทองแม้จะพบในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนมากกว่า 50% แต่ก็ไม่ได้พบในทุกคน และมักจะมีอาการเพียงแค่ 3-5 ปีแรกเท่านั้น”
อาการแสดงของภาวะวัยทองนั้น เป็นอิทธิพลมาจากการลดลงอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งปกติแล้วฮอร์โมนเพศหญิงมีผลต่อการควบคุมการทำงานของร่างกายแทบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ร่างกายมีการสะสมของไขมันให้มีสัดส่วนเป็นผู้หญิง ทำให้ผิวหนังนุ่มนิ่มกว่าผู้ชาย และยังกระตุ้นเต้านมทำให้เต่งตึง มีน้ำมีนวล ทำให้กระดูกมีความแข็งแรง ป้องกันกระดูกพรุน นอกจากนั้นฮอร์โมนเพศหญิงยังมีผลต่อสมองและต่ออวัยวะบางอย่าง เช่น เส้นเลือด ตับ ไต เป็นต้น
อาการแบบนี้แหละ ที่เรียกว่าวัยทอง
- รู้สึกร้อนวูบวาบ อยู่ดีๆก็จะร้อนผ่าวขึ้นมาทั้งตัว ทางการแพทย์จะเรียกอาการนี้ว่า “Vasomotor Symptom” เกิดจากขาดฮอร์โมนเพศหญิว ซึ่งปกติฮอร์โมนออกฤทธิ์ที่สมอง ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เมื่อฮอร์โมนน้อยลง ทำให้การควบคุมอุณหภูมิไม่ดี ทำให้เกิดการขึ้นลงของอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ระบบหลอดเลือดจะปรับอุณหภูมิ ทำให้ร้อนวูบวาบ บางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย บางคนอยู่ไม่ได้ นอนไม่หลับ เหงื่อออกง่าย ขี้ร้อน ปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการเหล่านี้อาจเป็นช่วงประจำเดือนยังไม่หมดก็ได้
- ตื่นกลางดึกบ่อยๆ ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกร้อน ทั้งๆ ที่อากาศไม่ร้อน นอนเปิดแอร์ แต่ก็จะรู้สึกร้อน เหงื่อออก ขึ้นมาเฉยๆ ทำให้เกิดปัญหาการนอนไม่หลับ หลับไม่สนิทตลอดคืน ตามมา
- อารมณ์แปรปรวนง่ายกว่าปกติ ฮอร์โมนยังอาจควบคุมทางด้านจิตใจด้วย บางคนลืมง่าย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ กลัว และซึมเศร้า
- ช่องคลอดแห้ง เนื่องจากปกติฮอร์โมนจะกระตุ้นผนังช่องคลอดให้หนาขึ้น เมื่อขาดฮอร์โมนผนังช่องคลอดจะบาง ติดเชื้อง่าย เจ็บเวลาร่วมเพศกับสามีเพราะน้ำหล่อลื่นน้อย
- ปัสสาวะลำบาก เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะอาศัยฮอร์โมนเพศหญิงด้วย เมื่อขาดทำให้กระเพาะปัสสาวะทำงานไม่ดี ปัสสาวะลำบาก
- กระดูกบาง กระดูกจะบางลงเร็วประมาณปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นบางช้าลงไปเรื่อย ๆ อาการกระดูกหักจะเกิดขึ้นง่าย
- ผิวแห้ง ขาดความยืดหยุ่น
การรักษาอาการวัยทอง
- รักษาตามอาการ ปรับพฤติกรรม ธรรมชาติบำบัด เช่น นั่งสมาธิ จิตบำบัด เพื่อปรับอารมณ์ที่แปรปรวนให้สงบนิ่งขึ้น คนที่นอนไม่หลับก็อาจใช้การทำ Sleep Hygiene จัดสภาพแวดล้อมในการนอนให้ดี เตรียมตัวก่อนเข้านอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ด้วยการงดเล่นโทรศัพท์มือถือ งดทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การนอนบนเตียงนอน เป็นต้น เพื่อให้สามารถนอนหลับได้ดีขึ้น เป็นต้น
- ใช้ฮอร์โมนทดแทน การรักษาวิธีนี้จะไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษา และไม่ใช่สตรีวัยทองทุกคนที่ต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน การรักษาทางเลือกนี้จะใช้ในผู้ที่ใช้วิธีการข้างต้นแล้วไม่ได้ผล และมีอาการดังนี้
-
- มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกใจสั่น ซึ่งเป็นมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน จนทนไม่ได้
- ช่องคลอดแห้ง มีอาการแสบ หรือเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
- ปัสสาวะขัด และบ่อยโดยเฉพาะกลางคืน ผู้ป่วยมักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่การใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่ได้ผลเลย และการตรวจปัสสาวะมักไม่พบความผิดปกติแต่อย่างไร
- ภาวะกระดูกพรุน โดยวินิจฉัยจากการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก ด้วยเครื่องเอ็กซเรย์พิเศษซึ่งแนะนำให้ตรวจเมื่ออายุประมาณ 60 ปี ยกเว้นสตรีวัยทองก่อนกำหนด และไม่เคยได้รับยาฮอร์โมน
โดยข้อดีของผู้ที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนคือ อาการต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ร้อนวูบวาบ เหวี่ยงเวียน ช่องคลอดแห้ง ก็จะหายไปให้เราได้เบิกบานใจอีกครั้ง แต่ข้อเสียก็มีมากมายเช่นกัน เช่น อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม เส้นเลือดดำอุดตัน โดยเฉพาะที่ขา นิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากมีการขับถ่าย cholesterol มากขึ้น ซึ่งในผู้ที่ได้รับฮอรโมนทดแทนต้องได้รับการประเมินความเสี่ยง และติดตามการใช้ยาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ห้ามซื้อใช้เองนะจ๊ะ!
รับมืออย่างไร เมื่อมีอาการวัยทอง?
อันดับแรกคือ “ทำใจก่อน” ให้เราทำใจยอมรับว่ามันเป็นไปตามวัยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ผู้หญิงอย่างเราอาจจะต้องเผชิญ โดยเฉพาะผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัย 40 ปี หรือ ผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนมาๆหายๆ ร่วมกับเริ่มมีอาการตามที่กล่าวมา ควรจะเตรียมพร้อมรับมือต่อภาวะวัยทองตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งศึกษาหาความรู้ เตรียมพร้อมทางร่างกายให้แข็งแรง ร่างกายที่ได้รับการเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี จะมีความรุนแรงของอาการวัยทองลดลง ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขได้มากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
- โรงพยาบาลพญาไท. บทความทางการแพทย์. ทำอย่างไรดีเมื่อมีอาการวัยทอง. [ออนไลน์]. [เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2564]. เข้าถึงได้จาก : https://www.phyathai.com/arpreview.php?id=3261
- ผศ.นพ.สุรศักดิ์อังสุวัฒนา. วัยหมดประจำเดือน. [ออนไลน์]. [เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2564]. เข้าถึงได้จาก : https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=166