กลับมาพบกันอีกครั้งกับ ‘เภสัชอยากเล่า’ นะคะ ครั้งนี้เภสัชฯจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าบัตรแพ้ยา ที่หลายคนอาจจะแทบไม่เคยรู้จัก? ไม่เคยเห็น? ไม่เคยรู้ว่ามันมีตัวตน? หรือไม่เคยรู้เลยว่ามันมีไว้เพื่ออะไรกันนะ
การแพ้ยาคืออะไร
ก่อนอื่นเรามารู้จักกับการแพ้ยากันซักนิดนะคะ การแพ้ยา คือ ปฏิกิริยาที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายเราตอบสนองออกมาเพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายของเรา ซึ่งในที่นี้ก็คือยาที่เรารับเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะด้วยวิธีกิน ฉีด ทา หรือวิธีอื่นๆ ซึ่งความรุนแรงของการแพ้นั้นมีได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น ผื่นขึ้นตามตัว เป็นลมพิษ รู้สึกคันและบวม มีไข้ น้ำมูกไหล คันตา น้ำตาไหล ไปจนถึงขั้นรุนแรง เช่น หายใจไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ความดันต่ำ ภาวะช็อก ชีพจรเต้นเร็ว ชัก และสูญเสียประสาทการรับรู้ อาการแพ้อาจรุนแรงได้ถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด
จะเห็นได้ว่าการแพ้ยาก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และการป้องกันย่อมดีกว่าการปล่อยให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงแล้วค่อยมาแก้ไขภายหลัง ดังนั้นเราจึงพยายามหาเครื่องมือหรือวิธีการที่ใช้ป้องกันให้เกิดเหตุการณ์แพ้ยาเหล่านี้น้อยที่สุด นั่นก็คือบัตรแพ้ยานั่นเอง
บัตรแพ้ยาคืออะไร
บัตรแพ้ยาเป็นบัตรที่ใช้บันทึกอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาบางชนิด โดยจัดเป็นเอกสารทางการแพทย์ที่ควรแจ้งให้แพทย์/เภสัชกรทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาพยาบาล เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการเลือกใช้ยาหรือเลือกการรักษาให้เหมาะสมกับและปลอดภัยกับผู้ป่วยแพ้ยามากที่สุด ดังนั้นจึงควรพกบัตรแพ้ยาติดตัวไว้เสมอ เพื่อป้องกันการลืมข้อมูลสำคัญ รวมไปถึงป้องกันเมื่อต้องมีสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องรีบให้การรักษาโดยที่ผู้ป่วยหมดสติ
ข้อมูลอะไร…อยู่ในบัตรแพ้ยา
- ชื่อสามัญของยา ชื่อเป็นภาษาอังกฤษพร้อมกับชื่อภาษาไทยเพื่อให้ผู้ป่วยอ่านได้สะดวก
- อาการที่เกิด ต้องระบุอาการต่างๆที่เกิดขึ้นจากการแพ้ยานั้นอย่างละเอียด
- ผลการประเมิน ข้อนี้ถ้ามีก็ควรลงรายละเอียดให้ครบตามแนวทาง
- หน่วยงานและชื่อผู้ประเมิน ระบุชื่อแพทย์หรือเภสัช สถานที่ และวันเดือนปีที่ทำการประเมิน
- คำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการแพ้ยาในกลุ่มเดียวกัน เช่น หากคนไข้มีการแพ้ยาอย่างรุนแรง ก็แจ้งว่าห้ามใช้ยาชนิดนี้และควรหลีกเลี่ยงยาชนิดอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เป็นต้น
ข้อควรปฏิบัติในการใช้บัตรแพ้ยา
- ผู้ที่แพ้ยาควรจำชื่อยาสามัญที่ตนเคยมีอาการแพ้ให้ได้ พร้อมบอกคนใกล้ตัวให้ทราบไว้ เพื่อป้องกันกรณีฉุกเฉิน
- ผู้ที่แพ้ยาควรพกบัตรแพ้ยาติดตัวไว้ตลอดเวลา
- ผู้ที่แพ้ยาควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร ทุกครั้งที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือเข้าร้านขายยา
อ้างอิง (รูปภาพ)