Skip to content

จากเหตุการระทึกขวัญหลังจากได้รับแจ้งวัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้าไอน้ำของบริษัทหนึ่งจังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา และภายหลังกลับพบว่าสารนี้ได้ถูกหลอมละลายในโรงถลุงเหล็กกลายเป็นฝุ่นผงที่อาจถูกพัดพาไปได้ไกลหลายกิโลเมตร นำมาซึ่งความวิตกกังวลของประชาชนในพื้นที่ และบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก จนเกิดคำถามมากมายว่าแท้จริงแล้วสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137นี้คืออะไร อันตรายของมันรุนแรงแค่ไหน สามารถส่งผลกระทบได้นานเท่าไหร่ วันนี้เราจะมารู้จักและทำความเข้าใจกับสารชนิดนี้กัน

ซีเซียม-137 คืออะไร?

Caesium (ซีเซียม) เป็นธาตุบริสุทธิ์ชนิดหนึ่ง ถูกจัดเป็นธาตุโลหะอัลคาไล  มีลักษณะอ่อน-เหลว มีจุดหลอมเหลว 28.5 °C   สีเงินผสมทอง มีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง ซึ่งแร่ธาตุซีเซียมนี้มีด้วยกันอยู่หลายไอโซโทปทั้งแบบเสถียร และไม่เสถียร โดยชนิดที่ไม่เสถียรนี้จะสลายตัวและปล่อยกัมมันตรังสี (radioactive) ออกมาอยู่ตลอดเวลา และไอโซโทปหนึ่งของแร่ธาตุซีเซียมนั่นก็คือ ‘ซีเซียม-137’ นั่นเอง เจ้าสารนี้มีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง แต่มักจะจับตัวกับคลอไรด์กลายเป็นผงผลึก มีเลขอะตอมเท่ากับ 55 มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี สลายโดยการปลดปล่อยรังสีบีตาและรังสีแกมมา จนสุดท้ายแปรสภาพกลายเป็นแบเรียม-137m หากมนุษย์สัมผัสรังสีนี้จะทำให้ดีเอ็นเอถูกทำลายก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ และรังสีนี้ยังสามารถกระจายไปทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่จะสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ ตับ และไขกระดูก

ประโยชน์ของซีเซียม

ส่วนใหญ่ซีเซียม-137 จะถูกใช้กับเครื่องมือเฉพาะในปริมาณไม่มากนัก  มีการใช้ในทางการแพทย์ โดยใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีในการรักษามะเร็ง ใช้ในมาตรวัดกระแสน้ำในท่อโรงงานอุตสาหกรรม ใช้สำหรับปรับเทียบเครื่องมือวัดรังสี หรือใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาที่นำมาใช้ในการวัดความหนาแน่นของเครื่องมือเจาะสำรวจน้ำมัน 

อันตรายจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137

เมื่อร่างกายสัมผัสซีเซียม-137 มันจะกระจายไปยังอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วทั้งร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่กล้ามเนื้อและกระดูก บางส่วนจะไปอยู่ในตับและไขกระดูก สุดท้ายจะถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะ ที่สำคัญคือกัมมันตภาพรังสีนี้ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี จึงทำให้ผู้ที่สัมผัสอาจไม่รู้ตัว แต่หลังจากนั้นภายในเวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน จะเริ่มแสดงอาการทางระบบต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง เยื่อบุ ระบบเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ซึ่งอาจมีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

หากร่างกายได้รับสารกัมมันตรังสีในปริมาณมาก และกินเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการเฉียบพลันจากรังสี (Acute Radiation Syndrome : ARS) โดยความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ และระยะเวลาที่สัมผัส ดังนี้

  • หากได้รับรังสีเกิน 0.3-0.7 Gray : จะเกิดกลุ่มอาการกดไขกระดูก โดยมีอาการเริ่มต้นจากคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร โดยเริ่มมีอาการภายใน 1 – 2 ชั่วโมงหลังโดนรังสี จากนั้นเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูกจะตายไปเรื่อยๆ จนปริมาณเม็ดเลือดทั้งหมดในร่างกายลดลง จนสุดท้ายอาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเลือดออกไม่หยุดได้ภายใน 2-3 เดือน
  • หากได้รับรังสีเกิน 6-10 Gray : จะเกิดกลุ่มอาการทางเดินอาหาร เริ่มต้นจากคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย โดยเริ่มมีอาการภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังโดนรังสี ต่อมาจะเกิดการตายทั้งเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูก และเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหารอย่างต่อเนื่อง จนสุดท้ายมักจะเสียชีวิตภายใน 2 สัปดาห์ จากการติดเชื้อ ขาดน้ำ และเกลือแร่ผิดปกติ
  • หากได้รับรังสีเกิน 20-50 Gray : จะเกิดกลุ่มอาการทางระบบหัวใจหลอดเลือดหรือระบบประสาท ระยะแรกจะมีอาการวุ่นวายไม่ค่อยรู้ตัว คลื่นไส้อาเจียนถ่ายเหลวอย่างมาก ผิวไหม้ ซึ่งเริ่มมีอาการภายในหลักนาที และอาจมีอาการชัก โคม่า จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ภายใน 3 วัน

อาการเบื้องต้นของผู้ที่สัมผัสซีเซียม-137

  • คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
  • ปวดท้อง ถ่ายเหลว 
  • อ่อนเพลีย ขาดน้ำ
  • ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสรังสีเกิดการอักเสบ แดง ไหม้ มีการหลุดลอก เกิดเป็นแผล ผิวหนังตาย
  • ผมและขนหลุดร่วง ปากเปื่อย 
  • อาการจากไขกระดูกถูกกด ทำให้เป็นไข้ ติดเชื้อแทรกซ้อน มีเลือดออกง่าย
  • ซึม สับสน ชัก โคม่า

ข้อควรปฏิบัติหลังการสัมผัสซีเซียม-137

  • ลดการปนเปื้อน โดยล้างตาให้น้ำไหลผ่านจากหัวตาไปทางหางตาด้วยน้ำสะอาด ล้างมือ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้า ใส่ถุงปิดให้สนิทเพื่อตรวจสอบภายหลังว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหรือไม่
  • ไปลงทะเบียนยังหน่วยงานที่กำหนด ให้มีการจัดทำทะเบียนผู้สัมผัสหรืออยู่ในเหตุการณ์เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพและควบคุมการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี
  • ห้ามหยิบจับวัตถุทุกชนิด ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามนำมือสัมผัสบริเวณภายในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่อันตราย

การป้องกันและการปฏิบัติตน

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารกัมมันตรังสีหรือกล่องเหล็กต้องสงสัย
  • ถ้าอยู่ในที่เกิดเหตุให้ไปลงทะเบียนผู้สัมผัสสารกัมมันตรังสียังหน่วยงานที่กำหนด
  • รวบรวมสิ่งของหรือเสื้อผ้าที่คาดว่าอาจมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบก่อนนำไปใช้
  • ควรล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม
  • ติดตามข้อมูลสถานการณ์การเกิดเหตุ และปฏิบัติตามประกาศอย่างเคร่งครัด
อ้างอิง
  1. Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ. (20 มีนาคม 2566). ซีเซียม 137 คืออะไร สารกัมมันตรังสี อันตรายแค่ไหน. เรียกใช้เมื่อ 23 มีนาคม 2566 จาก https://www.hfocus.org/content/2023/03/27282
  2. คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยนวมินทราธิวาส นายแพทย์ฤทธิรักษ์ โอทอง. (2558). Cesium-137. การรักษาภาวะพิษสารเคมี.

  3. โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา. (16 มีนาคม 2566). เตือนภัย “ซีเซียม-137” อันตรายอย่างไรหากสัมผัส!? เรียกใช้เมื่อ 23 มีนาคม 2566 จาก https://www.synphaet.co.th/%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1137-%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2/