Skip to content

น้ำมันปลา Vs น้ำมันตับปลา

หลายครั้งที่ทุกท่านอาจจะเคยได้ยินคำโฆษณาคำเชิญชวนต่างๆ ในการเลือกใช้อาหารเสริมเพื่อดูแลสุขภาพ โดยอาหารเสริมที่เป็นที่นิยมคงหนีไม่พ้นน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลา ซึ่งมีชื่อที่ใกล้เคียงกันจนทำให้หลายคนสับสน และเข้าใจผิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดเดียวกัน แต่รู้หรือไม่ว่าทั้งสองอย่างมีการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน  ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่มา สารอาหาร รวมถึงประโยชน์ที่ได้รับ 

น้ำมันปลา (Fish Oil)

น้ำมันปลา (Fish Oil) คือ น้ำมันที่ได้จากกระบวนการสกัดเอาน้ำมันออกมาจากส่วนต่างๆ ของปลา เช่น เนื้อปลา หนังปลา หางปลา หัวปลา โดยปลาทะเลที่นำมาสกัดนั้นเป็นปลาที่อยู่ในทะเลน้ำลึกเขตหนาวเย็น ซึ่งมีกรดไขมัน Omega-3  ปริมาณมากกว่าปลาน้ำจืด เช่น  ปลาแองโชวี่ ปลาแมคเคอเรล หรือปลาทูน่า

สารอาหารสำคัญ:

น้ำมันปลาอุดมไปด้วยกรดไขมัน Omega-3 ประกอบด้วยกรดไขมันสำคัญ 2 ชนิด ก็คือ EPA  (Eicosapentaenoic Acid)  และ DHA (Docosahexaenoic Acid)

Omega-3 เป็นกรดไขมันจำเป็นที่ต้องได้รับจากแหล่งอาหารภายนอก เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้เอง สำหรับในร่างกายการสร้างสาร Eicosanoids ที่เกี่ยวข้องกับการปวดอักเสบและการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด สามารถสร้างขึ้นได้จากการใช้สารต้นตั้ง 2 ชนิด คือ EPA (Omega-3) และ Arachidonic acid (Omega-6) สาร Eicosanoids ที่สร้างได้จากสารตั้งต้นที่ต่างกัน จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนี้

Omega-3 : Anti-inflamatory ยับยั้งการวมตัวกันของเม็ดเลือดขาว มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก

Omega-6 : Pro-inflamatory กระตุ้นการรวมตัวกันของเม็ดเลือดขาว ทำให้เกิดการปวด อักเสบ กระตุ้นการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด

โดยพบว่าร่างกายจะสังเคราะห์เป็นสาร Eicosanoidsที่มีคุณสมบัติอย่างไรจะขึ้นกับปริมาณของสารตั้งต้นที่มีในร่างกายว่ามีปริมาณกรดไขมันชนิดใดมากกว่ากัน และสารทั้งสองชนิดจะต้องมีความสมดุลกัน ไม่ค่อนไปทางสารใดสารหนึ่งมากเกินไป หากมีปริมาณของกรดไขมัน Omega-3 และ Omega-6 ในสัดส่วนที่สมดุลกันจะทำให้ได้สาร Eicosanoids ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการรวมตัวกันของเกล็ดเลือด ลดความหนืดของเลือด ทำให้เกิดการหมุนเวียนเลือดที่สะดวกขึ้น และยังมีผลในเรื่องลดการหลั่งสารที่ทำให้เจ็บปวด สารที่ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบของร่างกาย

Omega-6 ได้จากการรับประทานเนื้อสัตว์ ไขมัน และน้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเมล็ดฝ้าย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ได้รับในปริมาณที่เพียงพอ แต่ในส่วนของ Omega-3 จะพบมากในปลาทะเลน้ำลึก ซึ่งประชากรส่วนมากได้รับในปริมาณที่น้อยกว่า

ส่วน DHA มีบทบาทเกี่ยวกับการพัฒนาระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองเห็นในช่วงอายุ 6 เดือนแรก และมีความสําคัญต่อการสร้างสารที่ทําหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเส้นประสาท มีผลต่อการทํางานหรือการสั่งงานของสมอง โดยประสิทธิภาพการสร้าง DHA ในร่างกายของทารกที่เกิดก่อนกําหนดนั้นยังไม่ดี จึงจําเป็นต้องได้รับ DHA จากนม โดยให้มารดาบริโภคปลาทะเล เพื่อเพิ่มปริมาณ DHA ในน้ำนม หรือเสริม DHA ในนมผงดัดแปลงสําหรับทารกเกิดก่อนกําหนดได้

มีผลวิจัยทางการแพทย์มากมายสรุปอย่างชัดเจนว่าน้ำมันปลามีส่วนช่วยลดความดันโลหิตสูง ลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ และลดโอกาสการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ สมองอุดตัน นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงสมองและหัวใจ เป็นต้น จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการบำรุงหัวใจ สมอง ป้องกันหลอดเลือดหัวใจ และสมองอุดตัน หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูงหรือต้องการลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ สามารถการลดอักเสบโรคข้อรูมาตอยด์ โรคซึมเศร้า และโรคสมองเสื่อม

ขนาดการรับประทาน:

ผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาในประเทศไทยส่วนมากจะมีขนาด1000 mg ประกอบไปด้วย EPA 180 มิลลิกรัม DHA 120 มิลลิกรัม โดยขนาดในการรับประทานจะเเตกต่างกันตามข้อบ่งใช้ดังนี้

  1. สำหรับลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในผู้ป่วยที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า 500 mg/dL สามารถรับประทานน้ำมันปลา 3,000-4,000 มิลลิกรัม/วัน
  2. สำหรับลดความดันโลหิตและความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถรับประทานน้ำมันปลา 4,000 มิลลิกรัม/วัน
  3. สำหรับลดปวด ลดอักเสบ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ สามารถรับประทานน้ำมันปลา 3,000 มิลลิกรัม/วัน

โดยวิธีการรับประทานแนะนำ ให้รับประทานพร้อมกับมื้ออาหาร หรือหลังอาหารทันที เนื่องจากอาหารที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบจะเพิ่มการดูดซึมของน้ำมันปลา และช่วยลดผลข้างเคียงในเรื่องคลื่นไส้ อาเจียนได้

อาการข้างเคียง:

  1. ทำให้เลือดอออกง่ายขึ้น หรือเลือดหยุดไหลยากขึ้น เนื่องจากมีผลยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่ดื่มสุรามาก ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือผู้ที่รับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) หรือ วาร์ฟาริน (warfarin) เป็นต้น นอกจากนี้หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานน้ำมันปลาก่อนถึงวันผ่าตัดอย่างน้อย 14 วัน ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร ก่อนรับประทานน้ำมันปลา
  2. อาจกระตุ้นให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียนได้ เนื่องจากมีกลิ่นคาวของปลาทะเล ซึ่งความรุนแรงของอาการจะขึ้นกับขนาดน้ำมันปลา วิธีแก้ไขคือรับประทานหลังอาหารทันที และเริ่มรับประทานน้ำมันปลาในขนาดต่ำๆก่อน อาการคลื่นไส้ อาเจียนจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากรับประทานต่อเนื่อง

น้ำมันตับปลา (Cod liver oil)

น้ำมันตับปลาสกัดมาจากตับของปลาทะเลน้ำลึก โดยเฉพาะปลาค็อด หรือที่หลายคนคุ้นหูกันในชื่อของ Cod liver oil

สารอาหารสำคัญ:

น้ำมันตับปลาจะมีกรดไขมัน EPA และ DHA ในปริมาณที่น้อยกว่าน้ำมันปลา แต่มีวิตามินเอ และวิตามินดี ปริมาณสูง น้ำมันตับปลา เหมาะกับผู้ที่ต้องการดูแลในเรื่องของสายตาและกระดูก เนื่องจาก วิตามินเอ ได้ชื่อว่าเป็นวิตามินสำหรับดวงตา เพราะมีประโยชน์ต่อสมรรถภาพในการมองเห็น ช่วยให้มองเห็นในที่ที่มีแสงสว่างน้อยได้ดีขึ้น ในส่วนของวิตามินดี มีคุณสมบัติในการบำรุงกระดูก ป้องกันกระดูกพรุนและเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดยวิตามินดีจะมีบทบาทในการรักษาสมดุลแคลเซียม ฟอสฟอรัสในร่างกาย โดยจะเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมที่ทางเดินอาหารและเพิ่มการดูดกลับแคลเซียมที่ท่อไตเพื่อให้ร่างกายมีปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสมในการสร้างกระดูกและฟัน

ขนาดการรับประทาน:

ขนาดในการรับประทานไม่ควรเกิน 30 มิลลิลิตร การรับประทานน้ำมันตับปลาควรรับประทานพร้อมมื้ออาหารหรือหลังอาหารทันทีเพื่อเพิ่มการ ดูดซึมและลดอาการข้างเคียงในเรื่องการคลื่นไส้ อาเจียน และควรตรวจสอบระดับของวิตามินเอ และวิตามินดีเพื่อป้องกันการบริโภควิตามินทั้ง 2 ชนิดมากเกินไป (วิตามินเอไม่ควรเกิน 1000 IU /วัน , วิตามินดีไม่ควรเกิน 5000/IU/วัน) เพื่อป้องกันการเกิดพิษจากวิตามินเอ และวิตามินดีเกินขนาด

อาการข้างเคียง:

  1. น้ำมันตับปลามีปริมาณของวิตามินเอ และ วิตามินดีสูง ซึ่งวิตามินทั้งสองตัวนี้เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป อาจเกิดการสะสมและก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มีผลต่อระบบประสาท ทำให้ตับถูกทำลาย หิวน้ำ ปัสสาวะบ่อย และอาจทำให้ผมร่วง ผิวแห้ง
  2. วิตามินดีที่สะสมมากจนเกินไปนั้นอาจจะมีผลเสียต่อระบบเลือด เสียสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย อาจทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย เบื่ออาหาร และกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจทำให้เกิดภาวะไตวายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
  3. สำหรับหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานเนื่องจากมีปริมาณของวิตามินเอสูงอาจทำให้เกิดความผิดปกติของเด็กทารกในครรภ์ได้
  4. ทำให้เลือดอออกง่ายขึ้น หรือเลือดหยุดไหลยากขึ้น เนื่องจากมีผลยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกรก่อนรับประทานน้ำมันตับปลา
เอกสารอ้างอิง
  1. Krupa K, Fritz K, Parmar M. Omega-3 Fatty Acids. [Updated 2023 Jan 17]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2023 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK564314/
  2. Lentjes MA, Mulligan AA, Welch AA, Bhaniani A, Luben RN, Khaw KT. Contribution of cod liver oil-related nutrients (vitamins A, D, E and eicosapentaenoic acid and docosahexaenoic acid) to daily nutrient intake and their associations with plasma concentrations in the EPIC-Norfolk cohort. J Hum Nutr Diet. 2015 Dec;28(6):568-82. doi: 10.1111/jhn.12271. Epub 2014 Sep 16. PMID: 25228113; PMCID: PMC4657496.