Skip to content

PM 2.5 ตัวร้าย…อันตรายต่อลูกน้อย

ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือที่รู้จักกันในชื่อ PM 2.5 เป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ของโลกโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เนื่องจากขนาดที่เล็กมาก ฝุ่นละอองเหล่านี้สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและกระแสเลือดของมนุษย์ได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะในเด็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันและสมองที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ บทความนี้จะอธิบายถึงอันตรายของ PM 2.5 และวิธีป้องกันผลกระทบต่อเด็ก

PM 2.5 คืออะไร มาจากไหนกันนะ?

ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือที่รู้จักกันในชื่อ PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่าความกว้างของเส้นผมมนุษย์ถึง 25 เท่า ฝุ่นเหล่านี้แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่าง ๆ  โดยเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ เช่น การเผาไหม้ของรถยนต์ การเผาสิ่งปฏิกูล ควันบุหรี่ รวมถึงฝุ่นจากการก่อสร้าง

PM 2.5 ส่งผลกระทบกับร่างกายอย่างไร?

ขณะหายใจเข้า ฝุ่นขนาดเล็กนี้ก็จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางช่องจมูกและปาก อากาศไหลผ่านทางเดินหายใจเข้าไปจนถึงถุงลม ซึ่งเป็นถุงอากาศเล็ก ๆ ในส่วนปลายสุดของปอด แล้วแทรกตัวผ่านผนังถุงลมเข้าสู่กระแสเลือด เคลื่อนตัวไปยังอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย และส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่

ระบบทางเดินหายใจ
  • อาการระคายเคืองทางเดินหายใจ ฝุ่น PM 2.5 เมื่อสูดหายใจเอาฝุ่นเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองในโพรงจมูกและทางเดินหายใจส่วนบน ส่งปลให้มีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ และเจ็บคอได้
  • อาจทำให้เกิดการกำเริบของโรคภูมิแพ้และหอบหืด ในเด็กที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืด ฝุ่น PM 2.5 อาจะเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการกำเริบได้
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ฝุ่น PM 2.5 สามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันในทางเดินหายใจได้ ทำให้เด็กมีความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ง่าย
  • ผลกระทบระยะยาว การได้รับฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานานอาจส่งผลให้สมรรถภาพปอดลดลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดเรื้อรังในอนาคต และทำให้สารต้านอนุมูลอิสระของร่างกายลดลง เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจเรื้อรัง
ระบบประสาทและสมอง

สมองจะพัฒนาได้เร็วที่สุดในช่วงแรกเกิด และจะพัฒนาต่อเนื่องไปตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น มีบทบาทสำคัญในเรื่องการเรียนรู้และความจำ ความสนใจ และการควบคุมอารมณ์ รวมถึงการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เมื่อฝุ่นละอองเหล่านี้เข้าไปยังสมองของเด็กที่กำลังพัฒนา ฝุ่นละอองจะไปสร้างความเสียหายต่อเซลล์สมอง ผลคือทำให้เกิดความบกพร่องในการพัฒนาทางสติปัญญาและความสามารถในการเรียนรู้ ฝุ่นละอองเหล่านี้อาจสะสมและก่อให้เกิดความเสื่อมของระบบประสาทในอนาคต

ผลกระทบต่อมารดาและทารกในครรภ์

ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด และการคลอดทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ไปจนถึง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ในทารก โดยเฉพาะอาการผื่นแพ้ผิวหนังในช่วงขวบปีแรก และส่งผลต่อการพัฒนาเซลล์สมองของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกคลอดเสี่ยงต่อพัฒนาการล่าช้า ก่อให้เกิดปัญหาด้านการพูดและอารมณ์ได้

วิธีการป้องกันฝุ่น PM 2.5

 1. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง

 2. หากเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องออกนอกอาคาร แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย N95 ทุกครั้ง หน้ากากอนามัย N95 คือ หน้ากากอนามัยที่มีคุณสมบัติป้องกันอนุภาคฝอยในอากาศขนาดเล็ก 0.1-0.3 ไมครอนได้ 95% เป็นอย่างน้อย ทำให้สามารถป้องกันอนุภาคฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดต่ำกว่า 2.5 ไมครอนได้

 3. เด็ก ๆ ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ควรเตรียมยาประจำตัวให้พร้อม และรับประทานยาประจำสม่ำเสมอ ผู้ปกครองควรพกยาจำเป็นสำหรับใช้ในกรณีที่มีอาการกำเริบ

 4. ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในบ้านหรืออาคาร เพื่อลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในที่อยู่อาศัย

สัญญาณเตือนว่าลูกอาจมีความเสี่ยงควรพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

• เจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจบ่อยและหายป่วยยาก

• มีอาการหอบเหนื่อย

• อาการภูมิแพ้กำเริบบ่อยครั้งจนต้องใช้ยาควบคุมอาการถี่ขึ้น

การดูแลตัวเองเบื้องต้น

ควรรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายและเกิดสารอนุมูลอิสระตามมา สารอนุมูลอิสระเหล่านี้จะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันและเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายให้เกิดความเสื่อมสภาพ ตัวอย่างอาหารที่ให้สารต้านอนุมูลอิสระสูงตามด้านล่าง

  • Vitamin C, E

วิตามิน C และ E มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ สามารถต้านการอักเสบของเซลล์ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

  • Omega-3 Fatty acids

กรดไขมันโอเมก้า-3 ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ลดการอักเสบในทางเดินหายใจ มีการศึกษาว่าการรับประทาน Fish oil 2.5 g/วัน ในช่วงที่ค่า PM 2.5 สูง ช่วยลดสารก่ออักเสบในร่างกายได้

  • Astaxanthin

แอสตาแซนทินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง มีบทบาทในการปกป้องเซลล์และลดการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย

  • ผักผลไม้ 5 สี ได้แก่

สีน้้าเงิน/สีม่วง มีแอนโทไซยานินสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ชะลอความเสื่อมของเซลล์
เช่น กะหล่้าม่วง มะเขือม่วง องุ่นม่วง ลูกพรุน ชมพู่มะเหมี่ยว เป็นต้น

สีเขียว มีสารคลอโรฟิลล์ และลูทีน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และป้องกันโรคมะเร็ง เช่น บร็อคโคลี่ ต้าลึง
คะน้า ผักโขม ฝรั่ง องุ่นเขียว ชมพู่เขียว แอปเปิ้ลเขียว เป็นต้น

สีเหลือง/ส้ม มีเบตาแคโรทีน ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน
เช่น แครอท ฟักทอง มะละกอสุก สับปะรด มะม่วงสุก เป็นต้น

สีขาว/น้้าตาล มีสารฟลาโวนอยด์ ต้านอนุมูลอิสละ ลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ต้านการอักเสบ
เช่น ผักกาดขาว เห็ด หัวไชเท้า ลูกเดือย กล้วย เนื้อมังคุด แก้วมังกรเนื้อขาว สาลี่ เป็นต้น

สีแดง มีสารไลโคปีน และบีทาเลนสูง ช่วยป้องการโรคมะเร็ง เช่น มะเขือเทศ แตงโม แก้วมังกรเนื้อ
ชมพู เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

  1. โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช. PM2.5 ฝุ่นเล็ก ๆ กับสุขภาพของเด็กตัวน้อย [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 15 ก.พ. 2025]. เข้าถึงได้จาก: https://shorturl.asia/jEIOW
  2. โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น. ฝุ่นจิ๋วตัวร้าย ทำลายสุขภาพ [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 15 ก.พ. 2025]. เข้าถึงได้จาก: https://www.bangkokhospitalkhonkaen.com/th/article/1738039217
  3. โรงพยาบาลปิยะเวท. PM 2.5 ฝุ่นร้ายอันตรายต่อสุขภาพ [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 15 ก.พ. 2025]. เข้าถึงได้จาก: https://www.bangpakok3.com/care_blog/view/314
  4. สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี. ฝุ่น PM2.5 ตัวการทำเด็กป่วย [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 15 ก.พ. 2025]. เข้าถึงได้จาก: https://shorturl.asia/IUwvj
  5. โรงพยาบาลนวเวช. PM 2.5 ภัยเงียบขนาดจิ๋ว ที่ไม่จิ๋วสำหรับเด็ก [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 15 ก.พ. 2025]. เข้าถึงได้จาก: https://www.navavej.com/articles/18916
  6. J Am Coll Cardiol 2019;73:2076–85
  7. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย. อาหารต้านภัยฝุ่น…PM2.5 [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 15 ก.พ. 2025]. เข้าถึงได้จาก: https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/academic-articles/download?id=40747&mid=31947&mkey=m_document&lang=th&did=14456