หลายคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ด้วยตัวเอง หรือเคยได้ยินจากรายงานข่าวเกี่ยวกับอาการหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่แม้จะรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19ได้ 100 เปอร์เซนต์แล้ว แต่ก็ยังมีอาการแปลกๆไม่หายสักที ไม่ว่าจะเป็นอาการเหนื่อยเพลียที่ยังหลงเหลือ บางทีก็เป็นไข้ ปวดหัว วิงเวียน คล้ายจะเป็นลมอยู่บ่อยๆ
เราเรียกกลุ่มอาการเหล่านี้ว่า ภาวะ Long COVID หรือ Post COVID ซึ่งก็คือผลกระทบระยะยาวของการติดเชื้อโควิด-19 แม้จะกำจัดเจ้าไวรัสนี้ออกจากร่างกายได้หมดแล้วแต่อาการผิดปกติก็ยังสามารถอยู่กับเราได้นานกว่า 4 สัปดาห์ ต่อเนื่องไปจนถึง 12 สัปดาห์ ทำให้ผู้ที่หายป่วยบางรายยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเดิม ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30-50% จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว
อาการ Long-COVID ที่มักพบได้บ่อย มีดังนี้
- อ่อนเพลียเรื้อรัง
- เหนื่อยง่าย อ่อนแรง
- หายใจลำบาก หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม
- ปวดศีรษะ
- สมาธิจดจ่อลดลง
- ความจำผิดปกติ
- ไอ เจ็บแน่นหน้าอก
- ปวดกล้ามเนื้อ ข้อต่อ
- ท้องร่วง ท้องเสีย
- จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
- ซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Long-COVID?
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงในการเกิด Long COVID ได้มากกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ ผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีภาวะอ้วน, ผู้ที่มีโรคประจำตัว, ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ และยังรวมไปถึงในกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่หนัก หรือผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการก็ยังมีโอกาสเกิดอาการ Long-COVID ได้เช่นเดียวกัน แต่จากสถิติพบว่าภาวะนี้มักจะไม่พบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีนโควิด
แล้วเราจะป้องกันภาวะ Long-COVID ได้อย่างไร?
การป้องกันภาวะ Long-COVID ที่ดีที่สุด ก็คือการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัสโควิดนั่นเอง ซึ่งอาจทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ให้ครบโดยเร็วที่สุด อีกทั้งยังควรให้ความสำคัญกับการป้องกันการแพร่ระบาดด้วย ทั้งการสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างมิดชิดทุกครั้งที่ออกไปข้างนอก การล้างมืออย่างสม่ำเสมอ การรักษาระยะห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร เลี่ยงบริเวณที่มีความแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
อ้างอิง
- อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา. ภาวะ Long COVID (ลองโควิด) เมื่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้อยู่กับคุณแค่สั้น ๆ. [Internet]. วันที่สืบค้น : 20 พ.ย. 2564. Available from : https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%b0-long-covid-%e0%b8%a5%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%82%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%94-%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%84/
- โรงพยาบาลวิชัยเวช หนองแขม. รู้จักลองโควิด “Long COVID” อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19. [Internet]. วันที่สืบค้น : 20 พ.ย. 2564. Available from : https://vichaivej-nongkhaem.com/health-info/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94/
- นพ. กิตติพงษ์ คงจันทร์. โรงพยาบาลพญาไท. ลองโควิด (Long COVID) ผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด-19. [Internet]. วันที่สืบค้น : 26 พ.ย. 2564. Available from : https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/long-covid
- โรงพยาบาลตำรวจ. หากท่านเคยป่วยเป็นโควิด-19 ท่านมีอาการลองโควิด (Long COVID) หรือไม่. [Internet]. วันที่สืบค้น : 26 พ.ย. 2564. Available from : https://www.policehospital.org/content/news.php?ID=8318&dept=28