Skip to content

แผลร้อนในคืออะไร

แผลร้อนใน (Aphthous Ulcers) เป็นแผลที่พบได้บ่อยเกิดในช่องปาก อาจมีความปวดซึ่งอาจรบกวนชีวิตประจำวันได้ มีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรี ตรงกลางมีสีเหลือง ขอบแผลสีแดง หากมีอาการรุนแรงอาจเกิดร่วมกับ อาการไข้ การปวดข้อ เยื่อบุตาอักเสบได้ โดยแผลร้อนในแบ่งออกเป็น 3 ระดับได้แก่

แผลขนาดเล็ก (Minor aphthae) :
  • ขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตร
  • เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ลักษณะกลมรี ขอบแผลสีแดง ขึ้นตามกระพุ้งแก้ม เพดานอ่อน ใต้ลิ้น อาจขึ้นเพียงหนึ่ง หรือ หลายจุดได้
  • สามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
แผลขนาดใหญ่ (Major aphthae) :
  • ขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร ลักษณะกลม มีขอบ เป็นแผลลึกอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้
  • อาจรู้สึกปวดมาก
  • แผลหายได้เองประมาณ 6 สัปดาห์ 
แผลแบบชนิดกลุ่ม (Herpetiform aphthae)
  • ขนาดเล็กประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และรวมกันเป็นกลุ่ม 10-100 เม็ด หรือรวมกันเป็นตุ่มใหญ่อาจพบแผลลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส มีขอบที่ไม่ชัดเจน
  • สามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์

สาเหตุการเกิดแผลร้อนใน

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดในการเกิดแผลร้อนใน โดยอาจเกิดจากปัจจัยกระตุ้นเช่น

  • เกิดการบาดเจ็บจากการกัด แปรงฟัน อุปกรณ์ทันตกรรมในช่องปากเสียดสีบริเวณนั้น
  • ความเครียด
  • แพ้อาหาร เช่น ช็อกโกแลต สตรอว์เบอร์รี่ ถั่ว ชีส อาหารรสเปรี้ยว เผ็ด
  • แพ้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของ Sodium lauryl sulfate
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนช่วงที่มีประจำเดือน
  • ขาดวิตามินหรือเกลือแร่บางชนิด เช่น วิตามินบี 12, ธาตุเหล็ก, กรดโฟลิค
  • การรับประทานยาบางชนิดเช่น ยาต้านอีกเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)

การรักษาแผลร้อนใน

การรักษาด้วยยา
  • ยาป้ายที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ลดการอักเสบ (Triamcinolone acetonide 0.1%) เช่น Orrepaste®, Kanolone®, Lonna gel®, T-ora paste®, Trinolone oral paste® โดยมีทั้งรูปแบบยาขี้ผึ้ง (Paste) และ เจล (gel) โดยรูปแบบขี้ผึ้งจะยึดเกาะแผลได้ดีกว่ารูปแบบเจลซึ่งต้องทาบ่อยกว่า การทายาแนะนำให้ใช้สำลีซับบริเวณแผลให้แห้งแล้วป้ายยาลงบริเวณที่เป็นแผล ปาดให้เป็นฟิล์มบาง ๆ ให้ทั่วแผล
  • ยาป้ายที่มีส่วนผสมของยาชา (Lidocaine hydrochloride) และสารสกัดจากดอกคาโมมายล์ (Camomile extract) ช่วยลดอาการปวดและอักเสบ เช่น Kamisted-Gel N®
  • ยาป้ายที่มีส่วนผสมของ Choline salicylate ช่วยลดอาการปวดและอักเสบ และ  Cetalkonium chloride ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อโรค ได้แก่ Bonjela®
  • แผ่นแปะ มีสารที่ช่วยสมานแผล ได้แก่ Natural calcium, Silicon และ Phosphorus แปะแผ่นยาลงบริเวณแผล แผ่นแปะจะบวมแล้วค่อย ๆ กลายสภาพเป็นแผ่นเคลือบบริเวณแผล จากนั้นตัวยาจะแพร่จากชั้นของเจลเข้าสู่แผลช่วยให้แผลสมาน
  • ยาพ่นที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากดอกคาโมมายล์ (Camomile extract) อาจช่วยลดอาการอักเสบของแผลในปากได้ เช่น Kamilosan® M
  • ยารับประทานเอนไซม์ลดบวม ลดอักเสบ เช่น Leftose® ประกอบด้วยเอนไซม์ lysozyme Cl ช่วยลดบวม ลดอักเสบ สำหรับแผลในปาก ร้อนใน หรือแผลจากการดัดฟันได้

การรักษาโดยไม่ใช้ยา

  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ขนมหวานที่มีความเหนียว แอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจทำให้แผลรุนแรงมากขึ้น
  • ใช้หลอดดูดน้ำแทนการดื่มน้ำจากแก้วโดยตรง เพื่อเลี่ยงการสัมผัสแผล
  • ใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่ม หลีกเลี่ยงยาสีฟันรสมิ้นต์ในช่วงที่มีแผลร้อนใน เนื่องจากอาจทำให้แสบแผล
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง
  • อมน้ำแข็งช่วยลดอาการปวด
  • งดการอ้าปากกว้างแกะและเจาะบริเวณแผล

หากแผลร้อนในไม่หายภายใน 3 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์

เอกสารอ้างอิง

  1. Canker sore [Internet]. Mayo Foundation for Medical Education and Research; 2018 [cited 2023 May 25].Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/canker-sore/symptoms-causes/syc-20370615
  2. Mcbride DR. Management of Aphthous ulcers [Internet]. 2000 [cited 2023 May 25]. Available from: https://www.aafp.org/pubs/afp/issues/2000/0701/p149.html#afp20000701p149-b1
  3. Team C by Mimso. Bonjela [Internet]. [cited 2023 May 25]. Available from: http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Bonjela/?q=bonjela&type=brief
  4. Team C by Mimso. Leftose [Internet]. [cited 2023 May 25]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/leftose
  5. สุขเพ็ญ ณ.  รู้จัก “แผ่นแปะ” และ “ยาป้าย” รักษาแผลในปาก [Internet]. [cited 2023 May 25]. Available from: https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=66