Skip to content

“ไข้หูดับ” โรคร้ายที่แฝงมากับความอร่อย

จากที่มีกระแสข่าวพบผู้ป่วยวัยรุ่นหญิงติดเชื้อไข้หูดับ จากการรับประทานหมูกระทะกับครอบครัว แล้วมีอาการซึมลง อาเจียน เวียนศีรษะ จนต้องนำตัวรักษาที่โรงพยาบาล ภายหลังได้ตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากติดเชื้อ ‘ไข้หูดับ’ และติดเชื้อในกระแสเลือดจนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราในที่สุด ทำให้สังคมให้ความสนใจและอยากที่จะรู้จักกับโรคไข้หูดับนี้มากขึ้น เพื่อที่จะหาทางรับมือกับภัยร้ายใกล้ตัวนี้ โดยเฉพาะเมื่อต้องการจะไปเฉลิมฉลองด้วยชาบู หมูกระทะ และปิ้งย่างนั่นเอง

โรคไข้หูดับ คืออะไร?

ไข้หูดับ เกิดจากการติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มักจะอาศัยอยู่ในต่อมทอนซิล ระบบทางเดินอาหาร และช่องคลอดของหมู โดยเชื้อนี้สามารถติดต่อได้จากสัตว์สู่คน มักจะพบในผู้ที่รับประทานเนื้อหมู เลือดหมู และเครื่องในแบบสุกๆดิบๆ เช่น ลาบเลือดดิบ หลู้ ส้า ก้อย ซอยจุ๊ หมก แหนมดิบ ลวกจิ้ม หรือปิ้งย่างแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ รวมไปถึงผู้ที่ใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารที่สัมผัสกับเนื้อหมูดิบ จนช่วงหลังต้องมีการออกมารณรงค์ในร้านหมูกระทะให้ใช้ตะเกียบแยกกันระหว่างหมูดิบและหมูสุก นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อผ่านทางบาดแผลตามร่างกาย ผ่านทางเยื่อบุตา หรือการไปสัมผัสสารคัดหลั่งของหมู เช่น น้ำมูก น้ำลาย เป็นต้น

 อาการทั่วไปของโรคไข้หูดับ

(โดยทั่วไปมักจะเกิดขึ้นภายใน 3 วัน หลังจากได้รับเชื้อ)

  • ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้อาเจียน หรือท้องเสีย
  • ปวดเมื่อยตามตัว และตามข้อ
  • มีไข้ขึ้นสูงเฉียบพลัน

อาการเฉพาะของโรคไข้หูดับ

(โดยทั่วไปมักจะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากได้รับเชื้อ)

  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้ ปวดศีรษะมาก คอแข็ง ชัก มีระดับการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกตัว
  • หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทหูอาจทำให้การได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน ทำให้หูดับ หูตึง จนถึงขั้นหูหนวก ภายหลังอาจจะมีความผิดปกติในการทรงตัวร่วมด้วย
  • หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทตาจะทำให้ม่านตาอักเสบ ลูกตาฝ่อ หรือตาบอดได้
  • เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด และภาวะช็อก  (Streptococcal Toxic Shock Syndrome)
  • กลุ่มอาการอื่น ได้แก่ ข้ออักเสบ หรือลิ้นหัวใจอักเสบ

การวินิจฉัยและการรักษาโรคไข้หูดับ

การวินิจฉัยโรคไข้หูดับ สามารถทำได้ในผู้ที่มีอาการน่าสงสัย เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ คอแข็ง มีประวัติสัมผัสหรือรับประทานเนื้อหมูแบบกึ่งสุกกึ่งดิบมาก่อน ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา โดยจะวินิจฉัยผ่านการตรวจเพาะเชื้อจากเลือดและน้ำเยื่อหุ้มไขสันหลัง เพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis หากยิ่งเข้ารับการรักษาได้เร็ว จะยิ่งช่วยลดโอกาสที่เชื้อจะรุนแรงได้

ส่วนวิธีการรักษาโรคไข้หูดับ จะทำควบคู่กันทั้งการรักษาแบบเจาะจงโดยการให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ และการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ลดไข้ ลดอาการปวด วิงเวียนศีรษะ พร้อมกับการให้สารอาหารและเกลือแร่ต่าง ๆ แก่ผู้ป่วย

การป้องกันการติดโรค

  • ไม่รับประทานเนื้อหมูที่ไม่สุกดี และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจากอุปกรณ์ที่สัมผัสกับเนื้อหมูดิบโดยตรง
  • ไม่บริโภคหมูที่ป่วย หรือหมูที่ป่วยเป็นโรคตาย  เลือกบริโภคเนื้อหมูจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน
  • สวมอุปกรณ์ เช่น ถุงมือ ถุงเท้า และรองเท้าบูท ในผู้ที่จำเป็นต้องสัมผัสกับหมู หลังจากสัมผัสหมูแล้ว ควรล้างมือ ล้างเท้า ชำระร่างกายให้สะอาด
  • ควรทำอาหารจากเนื้อหมูด้วยการปรุงสุก จากความร้อนที่อุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที
  • ควรกำจัดเชื้อในฟาร์มตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้หมูเกิดการป่วย และระบาดทั่วทั้งฟาร์ม

คงจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากหากจะต้องมีผู้ป่วย พิการ และเสียชีวิตจากโรคไข้หูดับ เพียงเพราะการมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะเท่านั้น และในเมื่อรู้แบบนี้แล้วเราก็ควรตระหนักถึงความสำคัญในการเลือกบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย และใส่ใจการป้องกันตนเองจากเชื้อโรคอยู่เสมอ

อ้างอิง

  • กลุ่มงานเวชกรรม โรงพยาบาลพะเย่า. (26 พฤษภาคม 2557). Streptococcus suis หรือโรคไข้หูดับ. เรียกใช้เมื่อ 22 ธันวาคม 2565 จาก http://61.7.231.171/epidem/knowlage/suis.pdf
  • โรงพยาบาลเพชรเวช. (7 มิถุนายน 2565). โรคไข้หูดับ ภัยมรณะที่มาจากความอร่อย. เรียกใช้เมื่อ 22 ธันวาคม 2565 จาก https://www.petcharavejhospital.com/en/Article/article_detail/Streptococcus-Suis-Dangers-From-Deliciousness#:~:text=07%20Jun%202022%20%E2%80%A2%2024179,%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A8%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%
  • สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. (ม.ป.ป.). ไข้หูดับ. เรียกใช้เมื่อ 22 ธันวาคม 2565 จาก http://nih.dmsc.moph.go.th/data/data/fact_sheet/6_62.pdf