Skip to content

ใช้ยาพร่ำเพรื่อ… เสี่ยงเชื้อดื้อยา

“เจ็บคอมากเลย….. ขอยาแก้อักเสบ เขียวฟ้า ดำเทามากินหน่อยสิ” ประโยคคุ้นเคยที่เภสัชกรมักจะได้ยินมาเสมอเวลามีผู้มารับบริการหรือมาซื้อยารักษาอาการเจ็บป่วย … เหตุผลในการใช้ยาก็มีหลากหลาย บ้างก็ใช้จากประสบการณ์เจ็บป่วยครั้งก่อน ๆ ของตัวเองที่เคยกินยาแบบนี้แล้วหายเร็วทันตาเห็น หรือเห็นคนข้าง ๆ กินแล้วหายดีเลยอยากกินบ้าง และอื่น ๆ อีกมากมาย … หลายคนอาจเคยโดนทัดทานจากเภสัชกรว่า “กินมาก ๆ เดี๋ยวเชื้อจะดื้อยานะ” … “หายป่วยแล้วแต่ก็ต้องกินยาจนครบนะป้องกันเชื้อดื้อยา” เพราะฉะนั้น วันนี้เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า เชื้อดื้อยา ให้ถูกต้องกันดีกว่า

เชื้อดื้อยา ในที่นี้หมายถึงการที่ เชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ หรือทางเทคนิคเรียกว่า antibiotic resistance กล่าวคือเชื้อแบคทีเรียที่โดยปกติแล้วจะถูกฆ่าทำลายได้ง่าย ๆ จากยาปฏิชีวนะ กับกลายเป็นว่ายาไม่สามารถยับยั้งเชื้อโรคนั้นได้… สิ่งที่กังวลจากปรากฏการณ์นี้คือ เมื่อเชื้อดื้อยาเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายของเราไม่ว่าจะมาจากอาหารการกิน การสัมผัส การหายใจ หรือทางใดก็แล้วแต่ … เมื่อมันก่อโรคกับตัวเราแล้ว ไม่มียาตัวไหนสามารถช่วยรักษาหรือยับยั้งเชื้อนั้นได้ ทำได้แค่รักษาแบบประคับประคองอาการ … หากเกิดกับคนเพียงไม่กี่คนอาจมองว่าเป็นเคราะห์ร้าย เป็นเรื่องบังเอิญ แต่หากไม่มีการชะลออุบัติการณ์หรือแก้ไขปัญหานี้ ในอนาคตเมื่อเชื้อดื้อยาเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ยาก็จะไม่มีความหมายอีกต่อไป

สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวเร่งให้ปัญหาเชื้อดื้อยามีมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง .. ทุกครั้งที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ หมายความว่าเชื้อแบคทีเรียได้มีโอกาสสัมผัสกับตัวยา ตามหลักการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตย่อมมีการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดและดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป.. แบคทีเรียเองก็เช่นเดียวกัน … การใช้ยาที่บางครั้งไม่จำเป็น หรือกินๆหยุดๆ ลืมบ้าง กินไม่ครบโดส แบคทีเรียที่รอดชีวิตก็จะส่งต่อยีนดื้อยาไปทุกครั้งที่เกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน ปะปนไปกับสิ่งแวดล้อม ครั้งถัดไปเมื่อมีการติดเชื้อขึ้นอีก ยาเดิมที่เคยตอบสนองได้ดีก็ใช้การไม่ได้แล้ว ความรุนแรงของโรคก็เพิ่มมากขึ้น

จากนี้ไปเราต้องร่วมมือกัน ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและพยายามชะลอไม่ให้เหตุลุกลามบานปลายจนสายเกินแก้ … กินยาปฏิชีวนะเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเมื่อต้องใช้ยา

ยาปฏิชีวนะ ไม่เท่ากับ ยาแก้อักเสบ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ยาแก้อักเสบที่หลายคนคุ้นเคย ส่วนใหญ่ในรูปแคปซูล สีฟ้าเขียว สีดำแดง ที่ซื้อหาได้ง่าย ๆ ที่ร้านขายยานั้น ไม่ได้เรียกว่ายาแก้อักเสบนะ แต่จริงๆ แล้วตัวยาข้างในนั้นจัดอยู่ในกลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)หรือถ้าให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้นก็คือยาที่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น

การอักเสบ (inflammation) ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจได้อย่างง่ายก็คือการที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม หรือมีอะไรมากระทบกระเทือนให้ร่างกายเกิดการบาดเจ็บ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้ภายในระดับเซลล์ และเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ได้แสดงอาการอะไรออกมาเลยด้วยซ้ำ … แต่เมื่อเกิดการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้น หรือถูกกระตุ้นซ้ำ ๆ อาการที่แสดงออกมาให้เห็นเด่นชัดของการอักเสบก็คือ ปวด บวม แดง ร้อน ตามที่ต่าง ๆ ของร่างกาย

กลับมาที่สาเหตุของการอักเสบ… หนึ่งในนั้นเองก็คือเชื้อโรค ซึ่งเป็นได้ทั้งเชื้อไวรัส โปรโตซัวร์ เชื้อรา พยาธิ และเชื้อแบคทีเรีย แต่นอกจากการติดเชื้อแล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่ก่อให้เกิดการอักเสบ อย่างเช่น การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อจากอุบัติเหตุ สารเคมี รังสี ความร้อน ความเย็น มลภาวะ หรือแม้กระทั่งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของตัวเองที่ทำงานผิดพลาดก็ก่อให้เกิดอาการอักเสบได้เช่นกัน … มาถึงตรงนี้คงเข้าใจกันมากขึ้นแล้วว่า ทุกครั้งที่ร่างกายอักเสบไม่จำเป็นต้องเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียก็ได้ จึงไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อทั้งในการรักษาและการป้องกัน

ยกตัวอย่างกรณีที่มีอาการเจ็บคอ เราจะมีวิธีการแยกเบื้องต้นอย่างไรว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเปล่า จะเห็นได้ว่าการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นมีโอกาสเกิดได้น้อยกว่า และอาการแสดงรุนแรงกว่าการติดเชื้อไวรัสหรืออาการหวัดทั่วไป.. ซึ่งจริงๆ แล้วแค่รักษาตามอาการ รับประทานยาแก้ปวด หรือยาบรรเทากลุ่มอาการอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ Non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอะไร เพียงแค่นี้ก็สามารถหายเองได้ภายใน 3-5 วันโดยที่ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเลย

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/social/856808

หากคุณรู้สึกไม่มั่นใจเวลาเจ็บป่วยไม่สบาย อย่าลังเลที่จะพูดคุยปรึกษากับเภสัชกร เพื่อให้การรักษานัั้นถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาในอนาคตทั้งต่อตัวคุณเองและต่อสังคม