Skip to content

โรคไต (Renal failure) กับการใช้ยา

เมื่อไม่นานมานี้เคยมีคนไข้มาปรึกษาที่ร้านยาว่า “อยากได้ยาเม็ดกินเอาไว้ล้างไต พอดีเพื่อนฝากซื้ออยากใช้ล้างไต รู้สึกช่วงนี้ไตไม่ค่อยดี” ก่อนอื่นเราจะพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับอวัยวะไตให้มากขึ้นเพื่อให้รู้จักกับโรคไต การทำงานของไตที่ผิดปกติ และการดูแลรักษาไต

“ไต” (Kidney) คืออวัยวะภายในที่ทำหน้าที่กรองเลือดเพื่อกำจัดของเสีย โดยของเสียที่ถูกกรองออกทางไตจะถูกกำจัดในรูปแบบของปัสสาวะ การรับประทานยา วิตามิน หรืออาหารเสริมบางชนิดก็จะถูกกำจัดทางไตด้วยเช่นกัน ดังนั้นคนที่มีปัญหาโรคไตก่อนที่จะรับประทานยาหรืออาหารเสริม จึงจำเป็นจะต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าเรามีปัญหาเกี่ยวกับไต? คำตอบคือการตรวจสุขภาพจะมีค่าๆนึงที่ใช้บอกการทำงานของไต คือค่า “eGFR” (Estimated Glomerular Filtration Rate) บ่งบอกประสิทธิภาพในการกรองของไต ยิ่งเลขน้อยจะหมายถึงอัตราการกรองของไตที่สามารถทำได้ลดลง ทั้งนี้การประเมินโรคไตวายเรื้อรัง (Chronic renal failure) ต้องใช้หลาบปัจจัยในการประเมินร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ขาบวมกดแล้วบุ๋ม ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น

จากข้อมูลข้างต้นประกอบกับการประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหากมีภาวะที่ผิดปกติจะแบ่งเป็นหลายระดับขึ้นกับประสิทธิภาพของไต หากไตสามารถกรองได้น้อยมากจนถึงขั้นที่วินิจฉัยว่าอยู่ในระยะที่ 5 (Stage 5) หมอจะพิจารณาให้คนไข้ต้องล้างไตเพื่อกำจัดของเสียที่มีโอกาสคั่งในร่างกาย ได้แก่

  1. การฟอกด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
  2. การล้างท้อง (Peritoneal Dialysis)
  3. การปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) 

ซึ่งแต่ละแบบมีความเหมาะสมแตกต่างกันออกไปขึ้นกับแต่ละบุคคล การทานยาเม็ดเพื่อใช้ในการล้างไตจึงไม่มีจริงรวมถึงสมุนไพรต่างๆที่แอบอ้างว่าสามารถใช้ในการล้างไตได้ มี Case report จำนวนมากว่าการรับประทานยาสมุนไพรบางชนิดอาจทำให้เกิดโรคไตวายเฉียบพลันได้ (Acute renal failure) ยกตัวอย่างเช่น ไคร้เครือ มะฟือง เป็นต้น การรับประทานยาสมุนไพรจึงเหมือนจะให้โทษมากกว่าประโยชน์

เราจะดูแลรักษาไตอย่างไรได้บ้าง ดูจะเป็นคำถามที่เหมาะกับการดูแลรักษาไตได้มากกว่าวิธีอื่นๆ 

  1. การควบคุมอาหาร การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัดส่งผลกับประสิทธิภาพของไตโดยตรง เนื่องจากอาหารที่มีรสเค็มประกอบด้วยแร่ธาตุโซเดียม โพแทสเซียมสูง ส่งผลให้ไตทำงานได้แย่ลง
  2. โรคประจำตัวบางโรคเช่นโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวานที่ไม่สามารถคุมโรคได้ ส่งผลให้เกิดไตวายได้ มีผู้ป่วยหลายท่านเคยมาปรึกษาเรื่องที่คุณหมอชอบจ่ายยารักษาโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงหลายตัวแล้วกังวลเรื่องยาที่อาจจะส่งผลให้เกิดโรคไต ก็จะให้คำแนะนำเสมอว่ายาที่คุณหมอจ่ายต้องจ่ายหลายตัวเพื่อให้ใช้ยาแต่ละตัวในขนาดที่ต่ำเพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ การทานยานั้นบางตัวอาจกำจัดทางไตก็จริงแต่เมื่อเราทานในขนาดที่ต่ำตามที่คุณหมอแนะนำ ย่อมไม่เกิดอันตราย ควรรับประทานตามที่คุณหมอสั่งเพราะนอกจากจะสามารถคุมอาการของโรคได้แล้วยังช่วยในการดูแลรักษาไตได้อีกด้วย
  3. หลีกเลี่ยงสารเคมี สมุนไพรที่อาจส่งผลทำให้เกิดไตวายได้ หากมีความเสี่ยงเนื่องจากไตเริ่มกรองได้น้อยลง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ทุกครั้ง