รู้จักกับโรคเบาหวาน
เบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าระดับปกติอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนทำให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ หรืออาจเกิดจากการที่ร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินส่งผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่
อาการเริ่มแรกของโรคเบาหวาน
- อาการน้ำตาลในเลือดสูง: กินจุ กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย
- ภาวะน้ำตาลสูงเรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันได้ง่ายขึ้น ทำให้แผลหายช้า หรืออาจเกิดการอุดตันจนปลายเท้าขาดเลือด
- ภาวะน้ำตาลสูงเรื้อรัง ทำให้น้ำตาลไปเกาะเม็ดเลือดขาว ทำให้เม็ดเลือดขาวมีความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อโรคลดลง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น
- เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตามัว ไตวาย ชาปลายมือปลายเท้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในระยะแรกที่ผู้ป่วยเริ่มมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ยังไม่สูงมาก อาการจะยังไม่เด่นชัด
ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของโรคเบาหวาน
เมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน น้ำตาลที่สูงจะส่งผลต่อหลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการอักเสบ และเกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้ง่ายกว่าคนปกติ
ผู้ป่วยเบาหวานหากไม่ได้รับการรักษาดูแลที่เหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ได้แก่
- ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดเล็ก เช่น เบาหวานขึ้นจอตา ไตวาย เส้นประสาททำงานผิดปกติ
- ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดใหญ่ เช่น หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันทำให้เกิดแผลที่เท้า อัมพฤกษ์ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น
คำแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับผู้เป็นเบาหวาน
- ควบคุมอาหาร: เน้นการทานผักใบเขียว เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ลดการบริโภคเกลือทั้งเกลือเค็มและเกลือจืด เช่น ในเบเกอรี่ สามารถทานผลไม้ได้ แต่ควรเลือกผลไม้ที่หวานน้อย ดื่มนมรสจืดพร่องมันเนย
- ออกกำลังกาย: การออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น วิ่งเหยาะ ๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน อย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์ การออกกำลังกายชนิดต้านน้ำหนัก เช่น การยกเวท อย่างน้อย 45 นาที ต่อวัน อย่างน้อย 2 วัน ต่อสัปดาห์
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 2 แก้ว ต่อวัน
- ควมคุมน้ำหนัก
- งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- พบแพทย์ตามนัด รับประทานยา หรือใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- ตรวจติดตามวัดค่าน้ำตาลด้วยตนเองที่บ้าน
- เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากยาเบาหวาน เช่น รู้สึกไม่สบาย หิวมาก มือสั่น เหงื่อออก ให้รับประทานน้ำหวานหรือลูกอม แต่หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำระดับรุนแรง อาจทำให้มีอาการชักถึงขึ้นหมดสติได้ ในกรณีนี้ไม่ควรให้อาหารทางปาก แนะนำให้ส่งโรงพยาบาล
สารอาหารที่ช่วยควบคุมน้ำตาล ชะลอการเกิดโรคเบาหวาน
- Chromium picolinate (โครเมี่ยม พิโคลิเนต):
โครเมียมเป็นแร่ธาตุที่มีส่วนสำคัญในการเผาผลาญแป้ง น้ำตาล และไขมัน มีการศึกษาพบว่าโครเมียมสามารถช่วยลดไขมันในเนื้อเยื่อและลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนี้โครเมี่ยมยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดระดับ HbA1C ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
ขนาดที่แนะนำต่อวัน : 350-1000 ไมโครกรัม
- Alpha liproic acid (อัลฟา ไลโปอิค แอซิด):
อัลฟา ไลโปอิค แอซิด ช่วยเพิ่มความไวของตัวรับอินซูลินและเพิ่มการเผาผลาญน้ำตาลในกล้ามเนื้อและเซลล์ไขมัน
ขนาดที่แนะนำต่อวัน : สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการเกี่ยวกับเส้นประสาท เช่น อาการชาควรใช้ขนาด 600 มก.ต่อวัน และแนะนำให้ทานขณะท้องว่าง
- Cinnamon extract (สกัดจากอบเชย)
Cinnamon ช่วยเพิ่มการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคส ช่วยลดน้ำตาลสะสม HbA1c ช่วยส่งเสริมระบบเผาผลาญของน้ำตาลกลูโคส ช่วยเพิ่ม insulin sensitivity ขนาดแนะนำในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ช่วยลดระดับ fasting glucose, HbA1C และระดับน้ำตาลกลูโคสหลังรับประทานอาหาร
ขนาดที่แนะนำต่อวัน : 1-6 กรัมต่อวัน
ขนาดแนะนำในกรณีทานเป็นสารสกัด Cinnamon 360 mg ต่อวัน พบว่าช่วยลดระดับ HbA1C จาก 8.9% เหลือ 8.0%
- Magnesium (แมกนีเซียม)
แมกนีเซียมมีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งอินซูลิน ลดระดับไขมันและขยายหลอดเลือด เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต พบว่าผู้ที่มีระดับแมกนีเซียมต่ำสัมพันธ์กับการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน นอกจากนี้ยังพบว่าการรับประทานแมกนีเซียมในขนาดสูงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2
ขนาดที่แนะนำต่อวัน : 500-1,500 มก.ต่อวัน
- Bilberry (สารสกัดบิลเบอร์รี่)
ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตาและช่วยเพิ่มความคมชัดของการมองเห็นในผู้ป่วยโรคเบาหวาน สารโพลีฟีนอลในบิลเบอร์รี่ช่วยยับยั้งเอนไซม์ Alpha-glucosidase ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ในลำไส้ซึ่งมีหน้าที่ในการย่อยคาร์โบไฮเดรต จึงช่วยลดระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหารได้
ขนาดที่แนะนำต่อวัน : 100 mg ต่อวัน
- Curcumin (สารสกัดจากขมิ้นชัน)
ช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ช่วยเพิ่ม Insulin sensitivity และส่งเสริมการทำงานของ beta-cell ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน ช่วยเพิ่มความไวของอินซูลินในร่างกาย
ขนาดที่แนะนำต่อวัน : 400-630 mg ต่อวัน
- Momordica charantia (มะระขี้นก)
เสริมการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ เสริมการเผาผลาญน้ำตาล เพิ่มความไวต่ออินซูลิน
ขนาดที่แนะนำต่อวัน : เมื่อใช้เป็นผงมะระขี้นก 3-15 g ต่อวัน หรือ 300-600 mg เมื่อใช้ในรูปแบบสารสกัด
เอกสารอ้างอิง
- Available: https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/diabetes-2
- Available: https://www.medparkhospital.com/content/diabetes-mellitus
- Life Extension. Disease Prevention and Treatment, 6th ed. LE Publications, Inc.. Kindle Edition.
- Available: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/90/%
- Available: https://www.drugs.com/npp/bitter-melon.html