Skip to content

ผมร่วงอาจไม่ใช่โรคที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่ส่งผลต่อจิตใจ ความมั่นใจ และรูปลักษณ์ภายนอก หากผมร่วงและมีการงอกทดแทนเส้นผมเดิม ก็อาจไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาผมบางแต่กรณีที่ผมร่วงโดยไม่เกิดการงอกทดแทนก็จะส่งผลให้เกิดผมบางหรือหนังศีรษะล้านได้ ผมร่วงผมบางเกิดได้จากหลายปัจจัย ในวันนี้จะพูดถึงการรักษาผมร่วงและผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมนด้วยวิธีการอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการใช้ยา รวมถึงข้อมูลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง

ผมร่วงมีหลายแบบ ผมร่วงชนิด Androgenetic alopecia (AGA) หรือที่รู้จักกันในชื่อ โรคผมร่วงและผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน ซึ่งเป็นรูปแบบของผมร่วงที่พบบ่อยที่สุดทั่วโลก เกิดจากการตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนโดรเจนมากเกินไป โรคผมร่วงผมบางแบบ AGA ถือว่าเป็นโรคที่ค่อนข้างท้าทายในการรักษา เนื่องจากมักเกิดเรื้อรัง มาดูกันว่านอกเหนือจากการรับประทานยาหรือทายามีวิธีการอื่นใดอีกบ้างที่มีหลักฐานการศึกษาสำหรับใช้เพื่อรักษาผมร่วง

1. การฉีด Botulinum toxin A

กลไก: ลดผลของฮอร์โมน DHT ที่เซลล์รากผม
ผลข้างเคียง: มีอาการไม่สบายกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียง ปวดศีรษะ คลื่นไส้
เพศ: เพศหญิงและเพศชาย
ผลลัพธ์จากการรักษา: พบว่าการฉีดโบท็อกร่วมกับการรับประทาน finasteride และ minoxidil มีประสิทธิภาพดีกว่าการรับประทาน finasteride และ minoxidil อย่างเดียว

2. PRP

วิธีการรักษา: เป็นวิธีการรักษารูปแบบใหม่ที่นำมาใช้ในการรักษาโรคผมร่วงจากฮอร์โมนและพันธุกรรม เป็นการใช้สารจากตัวของผู้รับการรักษาเองจึงมีความเป็นธรรมชาติมาก ผลข้างเคียงน้อย มีวิธีการคือ ใช้เลือดของผู้ป่วยมาปั่นเพื่อแยกส่วนของ growth factor และสาร cytokine ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารที่ทำให้เซลล์เกิดการแบ่งตัวใหม่ โดยทั่วไปการทำ PRP จะใช้ปริมาณเลือด 10-30 mL มาปั่นแยก หลังการปั่นแยกจะได้ของเหลวปริมาตร 4-8 mL ซึ่งจะนำมาฉีดเข้าไปที่หนังศีรษะของผู้ป่วย
กลไกการรักษา: เพิ่ม Growth factor และ Cytokine ซึ่งช่วยในการงอกและการเจริญเติบโตของเส้นผม
ผลข้างเคียง: เจ็บหนังศีรษะ มีเลือดออก ปวดศีรษะ
เพศ: เพศหญิงและเพศชาย
ผลลัพธ์จากการรักษา: มีการศึกษา 10 จาก 12 การศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการรักษาด้วย PRP มีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาโรคผมร่วงทั้งในเพศหญิงและเพศชาย พบว่าช่วยให้ความหนาแน่นและเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธี PRP มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

3. คลื่นแสงพลังงานต่ำ

มีรายงานการใช้คลื่นแสงพลังงานต่ำในการรักษาผมร่วงตั้งแต่ปี 1960 โดยมีการนำคลื่นแสงพลังงานต่ำมาใช้ในการรักษาโรคผมร่วงจากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งคลื่นแสงที่นำมาใช้จะมีความยาวอยู่ในช่วงคลื่น 650-900 nm
กลไกการรักษา: คลื่นแสงจะไปกระตุ้นการสร้างพลังงาน เพิ่มการสร้างสาร endogenous factor และสาร Nitric oxide ทำให้หลอดเลือดขยายและเซลล์เกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน
ผลข้างเคียง: อาจเกิดผื่นเล็กน้อย มีอาการกดเจ็บบริเวณหนังศีรษะ
เพศ: เพศหญิงและเพศชาย
ผลลัพธ์จากการรักษา: มีการศึกษาการใช้หวีเลเซอร์ในผู้ที่มีปัญหาผมร่วงจากพันธุกรรมและฮอร์โมนสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน พบว่าผู้ป่วยมีผมงอกใหม่อย่างมีนัยสำคัญโดยที่ไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ ที่เป็นอันตราย 

4.Exosome

mesenchymal stem cell  (MSCs) เป็นเซลล์ที่มีความสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์อื่น ๆ ได้หลากหลายชนิด ปัจจุบันมีการนำ MSC-exosome ไปใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ รวมถึงการรักษาโรคผมร่วงศีรษะล้าน อย่างไรก็ตามการรักษาผมร่วงด้วยวิธีการนี้ยังต้องการข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ทำในสัตว์ทดลอง ที่สำคัญองค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (US FDA) ไม่ได้รับรองให้ใช้ Exosome ในการรักษาผมร่วงจากพันธุกรรมและฮอร์โมนทั้งในเพศหญิงและชาย
กลไก: มี Cytokine และ growth factor ซึ่งช่วยในการงอกและการเจริญเติบโตของผม
ผลข้างเคียง: เจ็บ บวม บริเวณที่ฉีด
เพศ: เพศหญิงและเพศชาย

5.Microneedling

Microneedling เป็นวิธีการทำให้เกิดแผลด้วยเข็มขนาดเล็ก ส่งผลให้เกิดการหลั่งของสาร VEGf ซึ่งช่วยในการกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดและการรักษาแผล และช่วยลดการเกิดผังผืด วิธีการนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในการนำมารักษาริ้วรอยและแผลเป็น แต่ต่อมาพบว่าวิธีนี้อาจมีประโยชน์ในการรักษาผมร่วง นอกจากนี้รูขนาดเล็กที่เกิดขึ้นจาก Microneedling ยังทำให้ยาอื่น ๆ ที่ใช้ในการรักษาผมร่วงถูกดูดซึมได้ดีขึ้น
กลไก: กระตุ้นการหลั่ง growth factor
ผลข้างเคียง: เจ็บบริเวณที่ทำหัตถการ
เพศ: เพศหญิงและเพศชาย
ผลลัพธ์จากการรักษา: มีรายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2021 พบว่า Microneedling ช่วยให้เกิดการเจริญของเส้นผมมากขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับ Minoxidil และ PRP

6.สารคาเฟอีน

เป็นสารที่สามารถแพร่ผ่านชั้นของผิวหนังได้ดี คาเฟอีนเป็นสารที่ช่วยในการสร้างพลังงาน มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์รากผม
กลไก: เพิ่มสาร cAMP เกี่ยวข้องกับการสร้างพลังงานให้แก่เซลล์ ช่วยการเจริญเติบโตของเซลล์
เพศ: เพศหญิงและเพศชาย
ผลลัพธ์จากการรักษา: มีการศึกษาการทาสารคาเฟอีนเทียบกับการทา 5% minoxidil พบว่าผลที่ได้ไม่แตกต่างกัน ซึ่งให้ผลลัพธ์เช่นเดียวกับการใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาการใช้สารคาเฟอีนในรูปแบบรับประทานในการรักษาโรคผมร่วง

7.Hair transplant

มีข้อบ่งใช้ในการรักษาผมร่วงจากพันธุกรรมและฮอร์โมนทั้งในเพศชายและเพศหญิง การรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายเส้นผมมี 2 เทคนิค คือ follicular unit transplantation (FUT) และ Follicular unit extraction (FUE) 

FUE: กระเปาะรากผมแต่ละเส้นจะถูกถอนออกมาและนำไปปลูกลงบนหนังศีรษะบริเวณที่ต้องการ ข้อดีคือ เจ็บน้อยกว่าและใช้เวลาในการรักษาตัวน้อยกว่าแบบวิธี FUT แต่มีข้อเสียคือ ใช้เวลาในการทำหัตถการนานกว่า
FUT: จะผ่าตัดเอาหนังศีรษะบริเวณที่ต้องการออกมาและเย็บแผล และนำกระเปาะรากผมจากหนังศีรษะที่ตัดออกมาไปปลูกบริเวณที่ต้องการ

ข้อห้ามสำหรับการรักษา: ผู้ที่มีผมร่วงแบบ diffuse unpatterned, ผู้ที่ผมร่วงเป็นหย่อม ผู้ที่มีจำนวนเส้นผมไม่เพียงพอ ผู้ที่มีปัญหาทานจิตเวช เช่น ผู้ที่ชอบดึงผมตัวเอง เป็นต้น แต่โรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าไม่ใช่ข้อห้ามสำหรับการรักษาด้วยวิธีปลูกผม
ผลข้างเคียง: เจ็บ มีเลือดออก บวม และอาจเกิดผื่น หัวใจเต้นเร็ว รอยแผล อาการบวม
เพศ: เพศหญิงและเพศชาย
ผลลัพธ์จากการรักษา: ผลการศึกษาในผู้ป่วยชายจำนวน 1106 คนที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายเส้นผม พบว่าการปลูกถ่ายเส้นผมสร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับการรักษาอย่างมาก ทั้งในเรื่องของภาพลักษณ์และความมั่นใจ

ปัจจุบันมียาที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) เพียง 2 ชนิดสำหรับการรักษาโรค AGA ได้แก่ ยาทา Minoxidil เฉพาะที่และยา Finasteride แบบรับประทาน อย่างไรก็ตามมีการรักษาที่ไม่ได้รับการอนุมัติจาก FDA จำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิผลในการรักษา AGA เช่น PRP และ microneedling ซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการรักษาโรคผมร่วง แต่อาจมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงและผู้ป่วยบางคนที่มีอาการรุนแรงอาจไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง อย่างไรก็ตามมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการรักษาผมร่วงโดยใช้หลายวิธีร่วมกันมีประสิทธิภาพสูงกว่าการรักษาด้วยวิธีใดเพียงวิธีเดียว

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบในการเลือกวิธีการรักษา คือ ต้นทุนค่าใช้จ่าย ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษา และความพึงพอใจของผู้ป่วย 

อ้างอิง
  1. Shivali D., Ogechi E., Kristen JK., Emma S., Maryanne S. Androgenetic alopecia: therapy update. Drug. 2023; 83(8):701-15.
  2. Esther JZ., Zbys F., Jan S. Interventions for female pattern hair loss. Cochrane database cyst rev. 2016 May 26(5):CD007628. doi: 10.1002/14651858.CD007628.pub4.