Skip to content

รู้ลึกเรื่องสารอาหาร: โครเมียม (Chromium)

รู้จักโครเมียม

หากคุณกำลังมองหาแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ช่วยในเรื่องการเผาผลาญพลังงานและควบคุมน้ำหนัก ขอแนะนำให้รู้จักกับ “โครเมียม” ในฐานะสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

โครเมียมเป็นแร่ธาตุชนิดนึงที่พบได้ทั่วไปในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ธัญพืช ผักผลไม้ บริวเวอร์ ยีสต์ เป็นต้น แต่จะพบน้อยในอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากนมและอาหารที่มีน้ำตาลสูง ทั้งนี้โครเมียมจากอาหารอาจถูกทำลายไปในระหว่างกระบวนการผลิตอาหารต่าง ๆ  และ มีเพียง 3% ของโครเมียมในอาหารเท่านั้นที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้โครเมียมยังสูญเสียไปได้ง่ายเนื่องจากสามารถจับกับกรดแลกติก (Lactic acid) ในร่างกายได้ ซึ่งในสภาวะที่ร่างกายสร้างกรดแลกติกสูงเช่น ภาวะที่ร่างกายทำงานอย่างหนัก ใช้พลังงานมาก ๆ หรือในกรณีที่การผลิตพลังงานในระดับเซลล์ไม่เพียงพอ

ร่างกายจะดูดซึมโครเมียมได้ดีเมื่ออยู่ในรูป Chelation กล่าวคือการนำสารอาหารที่ร่างกายดูดซึมได้ดีกว่าอย่างกรดอะมิโน มาล้อมรอบธาตุโครเมียมเพื่อช่วยนำพาเข้าสู่ร่างกายได้ในปริมาณที่มากขึ้นนั่นเอง ดังนั้นเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดเราควรมองหาโครเมียมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อยู่ในรูป Amino acid chelated เช่น Chromuim picolinate

ประโยชน์ของโครเมียม

โครเมียมมีบทบาทเด่นในเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผ่านการกระตุ้นการทำงานของอินซูลิน ฮอร์โมนที่จะหลั่งเมื่อมีน้ำตาลในกระแสเลือดมาก ๆ เป็นสัญญาณให้เซลล์ต่าง ๆ นำน้ำตาลเหล่านั้นไปสำรองไว้ใช้เป็นพลังงาน ซึ่งในคนที่มีภาวะที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) คือเซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินลดลง ในช่วงต้นร่างกายจะพยายามปรับตัวโดยการที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินมากขึ้นซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปยังไม่สามารถรักษาสมดุลนี้ไว้ได้ก็จะกลายเป็นโรคเบาหวานในที่สุด ซึ่งมีการศึกษาทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าการเสริมโครเมียมมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้ นอกจากนี้โครเมียมยังช่วยลดความอยากอาหารได้ด้วย จึงมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนักในผู้ที่มักจะหิวบ่อย หรือโหยน้ำตาล จึงมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนักของผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ได้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อป้องกันโรคร่วมด้วย เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอาหารพลังงานสูง น้ำตาลสูง เป็นต้น

ปริมาณที่ควรได้ต่อวัน ความเสี่ยงอันตรายหากทานมากไป

อ้างอิงจากองค์กรควบคุมความปลอดภัยของอาหารแห่งยุโรปหรือ EFSA (the European Food Safety Authority) แนะนำให้รับประทานโครเมียม 40 ไมโครกรัมต่อวันในคนทั่วไป ในขณะที่ องค์การอนามัยโลกหรือ WHO (World Health Organization) พิจารณาว่าสารโครเมียมที่ร่างกายควรได้รับสูงสุดไม่ควรเกิน 250 ไมโครกรัมต่อวัน ทั้งนี้ในการศึกษาต่าง ๆ ได้มีการใช้ Chromium piconilate ในปริมาณสูงถึง 1,000 ไมโครกรัมต่อวันได้โดยไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรง ทั้งนี้ควรระมัดระวังการรับประทานโครเมียมมากเกินไปในผู้ที่มีปัญหาการทำงานของตับหรือไตบกพร่อง ซึ่งอาจเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป

เอกสารอ้างอิง

  • Chromium Fact Sheet for Health Professionals [Internet]. 2021 [cited 20 Feb 2022]. Available from: https://ods.od.nih.gov/factsheets/Chromium-HealthProfessional/