Skip to content

“วัยทอง” เป็นคำเรียกทั่ว ๆ ไปหมายถึงหญิงวัยหมดประจำเดือน (Menopause) โดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยเมื่อขาดประจำเดือนต่อเนื่องอย่างน้อย 12 เดือน แต่หากอยู่ในช่วงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ แต่ยังไม่ถึง 12 เดือน จะอยู่ในช่วงวัยก่อนหมดประจำเดือน (Perimenopause) แต่ละบุคคลจะเข้าสู่ช่วงวัยทองแตกต่างกันออกไป โดยเฉลี่ยคือเมื่ออายุได้ประมาณ 45-55 ปี และในผู้หญิงบางรายอาจเข้าสู่วัยทองเร็วกว่านั้น เนื่องจากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป เช่น การผ่าตัดรังไข่ออก (oophorectomy) การผ่าตัดมดลูกออก (hysterectomy) การรักษามะเร็งโดยใช้เคมีบำบัด หรือปัญหาทางพันธุกรรมอื่น ๆ เป็นต้น

ในช่วงวัยทองนี้ ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง เนื่องจากร่างกายเข้าสู่ช่วงสิ้นสุดการตกไข่ และทำให้รังไข่ไม่ใช่แหล่งผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินอีก ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป การขาดฮอร์โมนเพศหญิง ส่งผลกระทบให้หลาย ๆ ระบบในร่างกายทำงานเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

  • กลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะสืบพันธุ์ (Genitourinary syndrome of menopause) หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศภายนอก บริเวณช่องคลอด รวมไปถึงทางเดินปัสสาวะ เช่น ภาวะช่องคลอดแห้ง แสบร้อน เกิดการบาดเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้บ่อย ๆ
  • การเปลี่ยนแปลงของสุขภาวะทางจิต เช่น อารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น วิตกกังวลง่าย
  • การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้เกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงทางด้านเมตาบอลิกต่าง ๆ ได้แก่ มวลกระดูกลดลง ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป มีความหย่อนคล้อย ไม่กระชับ สูญเสียคอลลาเจนในชั้นผิว เกิดฝ้ากระ จุดด่างดำ ผมบางลง
  • ความจำและกระบวนการคิดเสื่อมถอยลงไป
  • อาการทางกายภาพอื่นๆที่พบบ่อย เช่น ร้อนวูบวาบ (hot flushes) เหงื่อออกมากผิดปกติโดยเฉพาะเวลากลางคืน อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ

การรักษาโดยไม่ใช้ยา

เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและจัดการสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน เช่น

  • ผู้ที่มีอาการ Hot flushes ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่เบาสบาย ระบายอากาศได้ดี สามารถถอดเปลี่ยนได้ง่าย, รักษาอุณหภูมิห้องไม่ให้ร้อนจนเกินไป, ลดประมาณและความถี่ในการรับประทานอาหารรสเผ็ดร้อน และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน, ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้ชินกับการมีอุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงไป
  • พิจารณาใช้สารหล่อลื่นที่ให้ความชุ่มชื้นกับช่องคลอด (ชนิดที่ไม่มีฮอร์โมน) เพื่อบรรเทาอาการช่องคลอดแห้ง แสบคัน หรือเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  • รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่จะช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุน อาหารที่มีไขมันและคลอเรสเตอรอลต่ำ

นอกจากนี้หากอาการที่มีรุนแรงมาก อาจปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อรับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน (Hormone replacement therapy) ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีทั้งรูปแบบยาครีม ยาเม็ดรับประทาน ยาเม็ดสอดช่องคลอด แบบแผ่นแปะ และแบบห่วง นอกจากนี้อาจพิจารณาให้ใช้ควบคู่กับฮอร์โมนโปรเจสตินในกรณีที่จะป้องกันภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ อย่างไรก็ตาม การใช้ฮอร์โมนทดแทนอาจมีผลข้างเคียงและผลเสียเกิดขึ้นตามมาได้ เช่น มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด คัดตึงเต้านม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน