Skip to content

รังแคเกิดจากอะไร

รังแคเกิดจากการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังชั้นบนสุดของหนังศีรษะ  โดยปกติแล้ววงจรชีวิตของเซลล์ผิวหนังจะมีการแบ่งตัวจากเซลล์ผิวหนังชั้นล่าง และค่อย ๆ เคลื่อนไปยังชั้นบนจนถึงชั้นบนสุดแล้วค่อย ๆ ผลัดหลุดไป เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า วงจรนี้ในคนปกติใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหารังแคนั้นวงจรนี้จะเกิดเร็วขึ้นกว่าปกติ ทำให้มีการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังปริมาณมากจนสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เป็นแผ่นสะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะ

สาเหตุของรังแค

มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น จากการติดเชื้อ เชื่อว่าส่วนหนึ่งเกิดจากเชื้อราซึ่งอาศัยอยู่บริเวณรูขุมขนของหนังศีรษะชื่อ Malassezia โดยผู้ป่วยที่มีปัญหารังแคจะมีเชื้อราชนิดนี้มากกว่าคนปกติ การรักษารังแคส่วนหนึ่งจึงมุ่งเน้นการลดจำนวนของเชื้อราชนิดนี้ การปล่อยให้ผมเปียกชื้นนานๆ ทำให้หนังศีรษะแห้ง เสียสมดุลและสะสมเชื้อรา ก่อให้เกิดการเร่งผลัดเซลล์ผิวที่เร็วกว่าปกติ จนเกิดอาการคัน การอักเสบตามมา ส่วนสาเหตุจากการไม่ติดเชื้อ เช่น อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ฮอร์โมน ความเครียด การใช้สารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อหนังศีรษะ เช่น แชมพู น้ำยาย้อม ดัด ยืดเส้นผม และที่สำคัญการเกิดรังแคไม่ว่าสภาพผิวบริเวณหนังศีรษะจะแห้งหรือมัน ก็สามารถทำให้เกิดรังแคได้

เป็นรังแค จำเป็นมั้ยว่าต้องมีอาการคันร่วมด้วยไหม

รังแคอาจไม่มีอาการหรือมีอาการคันหนังศีรษะร่วมด้วย ไม่จำเป็นว่าต้องมีอาการคันร่วมด้วยเสมอไป แต่ถ้าหากเริ่มมีอาการคันก็ไม่แนะนำให้เกา เพราะยิ่งเกาจะทำให้สะเก็ดหลุดลอกมากขึ้น และอาจมีการอักเสบของหนังศีรษะเพิ่มขึ้นได้ แต่บางคนที่มีรังแค แล้วมีการอักเสบของหนังศีรษะร่วมด้วย อาจจะเป็นการบอกได้ถึงโรคบางอย่างได้

โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นรังแคหนังศีรษะจะดูปกติ แต่หากพบรังแคร่วมกับมีการอักเสบของหนังศีรษะอาจเป็นเป็นอาการแสดงของโรคผิวหนังบางโรค ได้แก่ โรคผิวหนังอักเสบ Seborrheic Dermatitis ซึ่งนอกจากพบมีผื่นแดง และมีสะเก็ดลอกบริเวณหนังศีรษะแล้ว ยังสามารถพบผื่นบริเวณข้างจมูก คิ้ว, หลังหูได้อีกด้วย การแพ้สารเคมีที่สัมผัสหนังศีรษะ เช่น แพ้น้ำยาย้อมผมก็สามารถทำให้เกิดอักเสบของหนังศีรษะได้ โรคผิวหนังอีกโรคหนึ่งที่มีสะเก็ดหลุดลอกบริเวณหนังศีรษะ คือ โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) ซึ่งการหลุดลอกของสะเก็ดบนหนังศีรษะจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจะพบมีรอยโรคที่หนังศีรษะ รวมถึงบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ลำตัว, แขนขา, ข้อศอก, หัวเข่า ร่วมกับมีความผิดปกติของเล็บมือเล็บเท้า และอาจมีข้ออักเสบร่วมด้วย

เราจะแยกได้ยังไง ว่ารังแคที่เราเป็นมันเป็นรังแคทั่วไป หรือว่าเป็นโรคอื่นๆ

รังแคจากโรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) คือ โรคเกี่ยวกับการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังหรือมีอีกชื่อว่า โรคต่อมไขมันอักเสบ หรือ โรครังแคบนใบหน้า ซึ่งโรคเซ็บเดิร์มจะเกิดขึ้นบริเวณที่มีความมัน มีต่อมไขมันอยู่มาก เช่น ใบหน้า หลัง หน้าอก จมูก หนังศีรษะ รอบสะโพก ขาหนีบ ส่วนมากแล้วจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง ขอบไม่ชัดเจน มีสะเก็ดสีขาวหรือสีเหลืองบริเวณผิวหนัง และมักมีอาการคันบริเวณผื่นหรือสะเก็ด อาจมีอาการผมร่วงเกิดขึ้น อาการอาจรุนแรงมากขึ้นหากมีความเครียดและมักจะเกิดรุนแรงในฤดูหนาวและฤดูร้อน ส่วนมากพบในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน และผู้ใหญ่อายุช่วง 30-60 ปี และพบบ่อยในเพศชาย

รังแคจากโรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) คือ โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ผิวตนเองทำให้เกิดผื่นแดง แห้ง คัน เป็นแผ่นนูนหนา ตกสะเก็ดเป็นสีเงินหรือสีขาวลอกออกเป็นขุยคล้ายรังแคตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ข้อศอก ลำตัว หัวเข่า เล็บและข้อ โรคนี้จะทำให้เกิดสะเก็ดมากกว่าโรคเซ็บเดิร์ม โดยมีสีขาวออกเงิน

วิธีการรักษาและป้องกัน

  1. เลี่ยงการสระผมด้วยน้ำอุ่น เนื่องจากน้ำอุ่นจะทำให้หนังศีรษะแห้ง และลอกเป็นขุยได้
  2. เลี่ยงการเกาแรง ๆ หรือใช้หวีซี่คมหวีบริเวณหนังศีรษะ
  3. ใช้ยาสระผมที่มีส่วนผสมของตัวยาที่สามารถลดจำนวนเชื้อราบนศีรษะ ซึ่งได้แก่ คีโตโคนาโซล ซิงค์ไพรีไทออน ซิลิเนียม ซัลไฟด์ หากมีสะเก็ดหนา และใช้ยาสระผมข้างต้นไม่ทุเลา ให้เปลี่ยนมาใช้ยาสระผมที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน (Tar) จะช่วยลดสะเก็ดได้ดี แต่มีข้อเสียคือ กลิ่นค่อนข้างแรง และอาจทำให้ผมแห้ง แข็งกระด้าง ซึ่งวิธีแก้ไขคือให้ใช้ครีมนวดตามหลังการสระผม  ผู้ที่เป็นรังแคควรใช้ยาสระผมเหล่านี้เป็นประจำ โดยช่วงแรกควรสระผม 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หลังจากรังแคลดลงแล้วสามารถลดเหลือ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยแต่ละครั้งที่สระผมควรทิ้งเวลาประมาณ 5-10 นาทีก่อนล้างออก
  4. หากกรณีมีหนังศีรษะอักเสบร่วมด้วย การใช้ยาทากลุ่มคอติโคสเตอรอยด์ชนิดน้ำ หรือครีมน้ำนมทาบริเวณหนังศีรษะจะลดอาการแดงอักเสบลงได้ โดยหลังจากสระผมให้ใช้หวีแสกผมออก จากนั้นหยอดยาลงบนบริเวณที่มีการแดงอักเสบของหนังศีรษะ ใช้นิ้วเกลี่ยและคลึงเบา ๆ  โดยทายาวันละ 1-2 ครั้ง การอักเสบของหนังศีรษะจะลดลง
  5. ลดความถี่ในการสระผมและเลี่ยงการสระผมก่อนนอน
  6. ลดการใช้ความร้อนกับหนังศีรษะ หรือใช้ระดับความร้อนที่เหมาะสมกับเส้นผมและหนังศีรษะ
  7. เลี่ยงการใช้สารเคมีอย่างการยืด ย้อม ดัดกับเส้นผม
  8. เลือกใช้แชมพู หรือยาสระผมที่มีสารสกัดจากธรรมชาติ เหมาะกับสภาพหนังศีรษะและเส้นผม ปราศจากสี ถ้าหากมีรังแค่จำนวน ควรเลือกแชมพูเนื้อเจลที่มีส่วนผสมของสารยับยั้งเชื้อรา ลดความมันและอาการคันหนังศีรษะได้ ปัจจุบันก็มีแชมพูเวชสำอางออกมาหลายตัว ที่มีสารจากธรรมชาติที่ช่วยเรื่องรังแค เช่น ไพรอคโทน โอลามีน (Piroctone Olamine), คลิมบาโซล (Climbazole) และโพลิโดคานอล (Polidocanol) ไพรอคโทน โอลามีน (Piroctone Olamine) และคลิมบาโซล (Climbazole) เป็นสารที่มีประสิทธิภาพในการลดจำนวนเชื้อราบนหนังศีรษะอย่างอ่อนโยน จึงช่วยลดรังแคบนหนังศีรษะ ส่วนโพลิโดคานอล (Polidocanol) จะช่วยลดความมัน ลดอาการคันบริเวณหนังศีรษะ ซึ่งสารทั้ง 3 ชนิด มีประสิทธิภาพในการขจัดความมัน สิ่งตกค้างบนหนังศีรษะและขจัดรังแคได้ดีกว่าถึง 2.5 เท่า และยังลดการเกิดรังแคซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสารอ้างอิง

  1. ผศ.พญ.ชนิษฎา  วงษ์ประภารัตน์. รังแค. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=555
  2. พญ. ลออ อรุณพูลทรัพย์. โรคเซ็บเดิร์ม. https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/sebderm
  3. นพ. ชลธวัช สุวรรณปิยะศิริ. สะเก็ดเงิน. https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/psoriasis