Skip to content

ภาวะหายใจเร็วกับความเครียด

ภาวะหายใจเร็ว (Hyperventilation Syndrome) คืออะไร

ภาวะหายใจเร็ว หรือ Hyperventilation Syndrome คืออาการหายใจที่ผิดปกติ ลักษณะการหายใจเป็นแบบเร็ว แรง และ ลึก เป็นเวลานาน ร่างกายมีการรับออกซิเจนเข้ามาและขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกมากเกินไป ทำให้ความเป็นกรด-ด่างในเลือดเสียสมดุล ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดต่ำ (Respiratory alkalosis) มีการหดตัวของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะที่สมองส่งผลให้รู้สึกมีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด หัวใจเต้นแรง และรู้สึกหายใจไม่ออกได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นนาที ถึง หลายชั่วโมง ขึ้นกับแต่ละบุคคล โดยสาเหตุยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจสัมพันธ์กับความเครียด ความกลัว ความโกรธ หรือ สภาวะกดดัน ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathetic Nervous System) ของร่างกายกระตุ้นให้ร่างกายหายใจเร็วขึ้นเพื่อจัดการกับอาการดังกล่าว เพื่อให้กล้ามเนื้อมีออกซิเจนไปเลี้ยงได้เพียงพอ หากไม่จัดการกับปัจจัยกระตุ้นก็จะเกิดภาวะ Hyperventilation Syndrome ในที่สุด แต่อย่างไรก็ตามภาวะนี้เป็นอาการที่สัมพันธ์กับภาวะวิตกกังวล หรือได้รับความกดดันทางจิตใจ เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว และไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต หากไม่ได้เกิดจากสาเหตุทางกายอื่นๆ

ลักษณะอาการของภาวะหายใจเร็ว (Hyperventilation Syndrome)

  ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงของภาวะหายใจเร็วดังต่อไปนี้

  • รู้สึกอ่อนแรง หน้ามืด เวียนศีรษะ
  • รู้สึกหายใจไม่ออก
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • รู้สึกชาที่บริเวณรอบปากและนิ้วมือ
  • กล้ามเนื้อหดเกร็งบริเวณมือและเท้า

โดยการเกิดภาวะหายใจเร็วผิดปกติที่เกิดขึ้นในครั้งแรก ๆ มักจะเกิดจากการมีความเครียดสะสมมากพอสมควร แต่เมื่อเป็นหลายๆ ครั้ง อาการจะเกิดง่ายขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้ผู้ป่วยมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพตนเองมากขึ้นได้ และญาติหรือผู้ดูแลอาจเข้าใจผิดได้ว่าผู้ป่วยแกล้งทำ ซึ่งหากมีอาการมากขึ้นหรือเกิดขึ้นได้บ่อยควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ไขต่อไป

การวินิจฉัยภาวะหายใจเร็ว (Hyperventilation Syndrome)

วินิจฉัยจากการซักประวัติและตรวจร่างกายว่าไม่สัมพันธ์กับโรคทางกาย อาการของภาวะหายใจเร็วอาจคล้ายคลึงกับอาการหอบจากสาเหตุทางกายได้หลายสาเหตุ เช่น โรคหอบหืด (asthma) ภาวะหัวใจขาดเลือด ภาวะเป็นกรดในเลือดจากเบาหวาน (diabetic ketoacidosis) และอื่นๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการซักประวัติ การตรวจร่างกาย เพื่อให้ได้รับการแก้ไขที่สาเหตุต่อไป โดยภาวะหายใจเร็วอาจวินิจฉัยแยกโรคได้จาก

  • ออกซิเจนในเลือดใกล้เคียง 100% หายต่ำกว่า 95% อาจพิจารณาหาสาเหตุโรคทางกายอื่นๆ
  • เอ็กซ์เรย์ปอดเพื่อหารอยโรคปอด
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อตรวจสอบความผิดปกติของหัวใจ

การจัดการและการป้องกันการเกิดภาวะหายใจเร็ว (Hyperventilation Syndrome)

  • เมื่อเกิดอาการให้ตั้งสติ หายใจเข้า-ออกอย่างช้าๆ
  • หากยังมีอาการหายใจไม่ออก กล้ามเนื้อหดเกร็งบริเวณมือและเท้าอยู่ อาจนำถุงกระดาษครอบปากและจมูกไว้ แล้วหายใจอย่างช้าๆ เพื่อให้คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดเพิ่มขึ้น
  • อาจหาวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น การฟังเพลง ออกกำลังกาย
  • หากจัดการความเครียดด้วยตัวเองไม่ได้ หรือมีภาวะหายใจเร็วกำเริบบ่อย ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อการรักษาที่ตรงจุดต่อไป
เอกสารอ้างอิง
  1. Frank Crooks et al. What causes hyperventilation? [Internet]. Healthline. Healthline Media; 2023 [cited 2023 May 4]. Available from: https://www.healthline.com/health/hyperventilation#when-to-see-a-doctor
  2. นฤขัตพิชัย ไกรสิทธิ์. อาการหายใจเร็วเกินไป hyperventilation syndrome [Internet]. Manarom Hospital. [cited 2023 May 4]. Available from: https://www.manarom.com/blog/Hyperventilation_Syndrome.html
  3. หิรัญเทพ ธนิตา. โรคหายใจเกิน (hyperventilation syndrome) [Internet]. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. [cited 2023May4]. Available from: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/05012014-1359