โรคข้อเสื่อมคืออะไร
โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) เป็นความผิดปกติของข้อที่พบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น ลักษณะของโรคเกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายลงอย่างช้าๆ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของข้อ ได้แก่ มีน้ำสะสมในข้อเพิ่มขึ้น กระดูกงอกผิดปกติ กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อหย่อนยาน นำไปสู่การเคลื่อนไหวข้อได้จำกัด รวมทั้งทำให้เกิดอาการปวดและบวมที่ข้อได้ โรคข้อเสื่อมพบได้บ่อยในตำแหน่งของข้อที่ต้องรับน้ำหนักมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อต่อกระดูกสันหลัง เป็นต้น
โรคข้อเสื่อมเกิดจากอะไร
ภายในข้อของมนุษย์ประกอบไปด้วย เยื่อบุข้อ น้ำไขข้อ และกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งกระดูกอ่อนผิวข้อจะทำหน้าที่รับแรงกดภายในข้อและป้องกันไม่ให้กระดูกที่อยู่ภายใต้กระดูกอ่อนกระแทกกัน หากกระดูกอ่อนผิวข้อเหล่านี้ถูกทำลาย ก็จะส่งผลให้กระดูกใต้กระดูกอ่อนผิวข้อสัมผัสกัน ปัจจัยที่อาจส่งผลทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลาย ได้แก่
- น้ำหนักตัว การที่มีน้ำหนักตัวมากจะส่งผลให้ข้อรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
- กิจกรรมบางอย่างที่ส่งผลให้ข้อต้องรับแรงกดมากจนเกินไป เช่น การนั่งคุกเข่า
- ปัจจัยทางพันธุกรรม
- อายุ อายุที่มากขึ้นมีโอกาสพบโรคข้อเสื่อมมากขึ้น
กลูโคซามีนคืออะไร
กลูโคซามีน(Glucosamine) คือสารประกอบประเภทน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว(อะมิโน-โมโนแซคคาไรด์ amino-monosaccharide) ที่ละลายในน้ำได้ กลูโคซามีนถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้าง สารโมเลกุลใหญ่ เช่น โปรตีโอไกลแคน (Proteoglycan), ไกลโคโปรตีน (glycoprotein), ไกลโคสามิโนกลัยแคน (glycosaminoglycan) และกรดไฮยาลูโรนิก (hyaluronic acid) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้าง กระดูกอ่อน ทำให้กระดูกอ่อนมีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อได้
บทบาทของกลูโคซามีนในการรักษาโรคข้อเสื่อม
จากการศึกษาระยะยาวด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้กลูโคซามีนในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม 212 คน พบว่า กลูโคซามีนซัลเฟตสามารถลดความรุนแรงของโรคข้อเสื่อมได้ (ลดความเจ็บปวด และช่วยเพิ่มความสามารถในการทำหน้าที่ของข้อได้ แต่ไม่มีผลลดอาการติดแข็งของข้อ) เมื่อใช้กลูโคซามีนซัลเฟต ขนาด 1500 mg ต่อวัน ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี และกลูโคซามีนซัลเฟตยังสามารถชะลอการเสื่อมโครงสร้างของข้อได้ โดยพบว่ากลูโคซามีนซัลเฟต สามารถชะลอกระบวนการตีบแคบของช่องว่างระหว่างข้อต่อได้ เมื่อเทียบกับการไม่ใช้ยา
รูปแบบของกลูโคซามีน
ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้อนุญาตให้ กลูโคซามีนซัลเฟตเป็นกลูโคซามีนที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตรายและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่วนกลูโคซามีนในรูปแบบอื่นจะขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยกลูโคซามีนมีทั้งรูปแบบยาเม็ดและรูปแบบผงชงละลายน้ำ
ข้อควรระวังในการใช้กลูโคซามีน
- อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการใช้กลูโคซามีน คือ อาการปวดท้อง ท้องเสีย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เป็นต้น
- ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารทะเล หรือสัตว์ทะเลที่มีเปลือกแข็ง โดยเฉพาะกุ้งหรือปู เนื่องจากกลูโคซามีนสกัดได้จากเปลือกของสัตว์ทะเล
เอกสารอ้างอิง
- โรคข้อเสื่อม. Thairheumatology.org. [cited 2024 Jul 19]. Available from: https://thairheumatology.org/index.php/learning-center/for-people/for-people-3?view=article&id=17:1-5&catid=12
- ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับกลูโคซามีน (glucosamine) ในโรคข้อเสื่อม. Mahidol.ac.th. [cited 2024 Jul 19]. Available from: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/41/กลูโคซามีน-glucosamine-ในโรคข้อเสื่อม-ไขข้อข้องใจ/
- Reginster JY, Deroisy R, Rovati LC, Lee RL, Lejeune E, Bruyere O, et al. Long-term effects of glucosamine sulphate on osteoarthritis progression: a randomised, placebo-controlled clinical trial. Lancet [Internet]. 2001;357(9252):251–6.
- Glucosamine. Pharmanordsea.co.th. [cited 2024 Jul 21]. Available from: https://www.pharmanordsea.co.th/products/glucosamine_pharma_nord